จากเป้าหมายที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) จะเป็นมากกว่าศูนย์การประชุมที่สามารถรองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบและทุกไลฟ์สไตล์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้ง B2B และ B2C ให้ได้มากที่สุด บริษัทจึงใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อสื่อสารไปยังผู้จัดงาน โดยได้คำนึงถึงความต้องการและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้จัดงาน ผู้จัดแสดงสินค้า และผู้ใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร้รอยต่อ พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่น่าประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ

นำเสนอข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่

ทั้งนี้นายสุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้เปิดช่องทางงเว็บไซต์สื่อสารกับผู้จัดงานและผู้เยี่ยมชมงานชาวไทยและต่างประเทศ ผ่านการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ กิจกรรมรายเดือน และสิ่งอำนวยความสะดวก ในหลากหลายภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน และมีแผนที่จะพัฒนาเป็นภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าใหม่ และตอบสนองการใช้งานของลูกค้าทุกชาติทุกภาษา

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถแสดงผลได้เสมือนจริงมากยิ่งขึ้นในรูปแบบของ Virtual Tour ที่ช่วยให้ผู้จัดงาน ตลอดจนผู้เยี่ยมชม สามารถเข้าถึงพื้นที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ในมุมต่างๆ เสมือนอยู่ในสถานที่จริง และนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจจองพื้นที่จัดงาน พร้อมทั้งวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้

ผ่านสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม

ซึ่งนายสุทธิชัย กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ด้วยแพลตฟอร์มต่างๆ ดังต่อไปนี้ วีแชท (WeChat) เน้นสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายชาวจีน ผ่านการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าหลักในประเทศจีน โดยนำเสนอข้อมูลและความเคลื่อนไหวของประเทศไทย ควบคู่ไปกับข้อมูลและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ สิริกิติ์

ส่วน บัญชีทางการของไลน์ (LINE Official Account) เน้นการนำเสนอกิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ และนำเสนอโปรโมชั่น เพื่อตอบโจทย์คอนเซ็ปต์ BALM (Bangkok Active Lifestyle Mall) และให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมและได้รับสิทธิประโยชน์จากการมาใช้บริการที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก (Facebook Fan Page) นำเสนอข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้ติดตามทราบอย่างทั่วถึง โดยสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อินสตาแกรม (Instagram) เน้นนำเสนอความสวยงามของพื้นที่และภาพบรรยากาศการจัดงานผ่านรูปภาพ และเป็นพื้นที่ในการแชร์ประสบการณ์ และบอกต่อความประทับใจที่ได้รับจากศูนย์ฯ สิริกิติ์

ขณะที่ในส่วนของทวิตเตอร์ (Twitter) จะเน้นนำเสนอไฮไลต์การจัดงานและอัพเดทข่าวสารที่น่าสนใจแบบเรียลไทม์ ซึ่งการเปิดช่องทางการสื่อสารบนสื่อดิจิทัลครบทุกแพลตฟอร์มของศูนย์ฯ สิริกิติ์ นี้ จะทำให้ผู้ใช้บริการจากทุกกลุ่มจากทั่วทุกมุมโลกสามารถติดต่อทางศูนย์ฯได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมก้าวไปสู่การเป็นที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม

ด้วยการดำเนินงานดังกล่าวบริษัทคาดว่า น่าจะมีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี เพิ่มจากช่วงก่อนปิดปรับปรุงที่มีผู้เข้าใช้บริการ 6 ล้านคนต่อปี พลิกโฉมจากการเป็นเพียงศูนย์ประชุม สู่การเป็นอีเวนต์แพลตฟอร์มระดับสากล สร้างรายได้ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีการตั้งตัวแทนการขาย (Representative) ในต่างประเทศ เช่น จีน ยุโรป โดยแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันของลักษณะงาน ทั้งนี้ได้ตั้งเป้างานต่างประเทศประมาณ   30% ไทย 70% และในอนาคตจะมีการตั้งตัวแทนในเกาหลีใต้ภายในปี 2565 นี้