วันที่ 3 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับมาตรการดูแลความปลอดภัยการจัดงานเทศกาลลอยกระทงในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่จัดงานที่มีคนมารวมกันจำนวนมาก เน้นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดูแลความสะดวกให้คนสามารถมาลอยกระทงได้อย่างปลอดภัย สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของ กทม. ประจำปี 2565 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2565 ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามภารกิจและแนวทางปฏิบัติ ทั้งก่อนวันลอยกระทง ในวันลอยกระทง และหลังลอยวันกระทง มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงวันลอยกระทง โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการเหตุการณ์ เน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัยและควบคุมความหนาแน่นของผู้ร่วมงาน

ทั้งนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักการแพทย์ จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความพร้อมภัยตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานตากสิน (สะพานสาทร) และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) ถึงสะพานพระราม 9 แต่ละช่วง ประกอบด้วย ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต 1 ลำ เรือกู้ชีพ 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ

จัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง และถังดับเพลิงประจำจุดพื้นที่ลอยกระทง บริเวณสวนสาธารณะและริมคลอง จุดอำนวยการร่วมฯ และ จัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ห่วงยาง เชือกช่วยชีวิต ประจำจุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ ในส่วนของโป๊ะและท่าเทียบเรือ ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง มีความพร้อมในการใช้งาน หากชำรุดให้นำเชือกกั้นติดป้ายห้ามใช้ ส่วนที่สามารถใช้ได้ให้ติดป้ายแจ้งจำนวนที่สามารถรองรับได้ โดยจำกัดผู้ลงไป 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร เพื่อความปลอดภัย สำหรับกรณีมีประชาชนลงไปเก็บกระทงในแม่น้ำ ลำคลอง ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่ ประจำจุดที่มีประชาชนมาลอยกระทงเป็นจำนวนมาก เพื่อตรวจตราความเรียบร้อย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มาลอยกระทง