วันที่ 3 พ.ย.65 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า...

ทำไมถึงเรียกว่า 'ซุปโอมิครอน'

วลี(อังกฤษ) “ซุปโอมิครอน” เป็นการเรียกขานโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโควิด-19 ทั่วโลกบ่งชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายตามธรรมชาติของการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เปลี่ยนไปในยุคของ “โอมิครอน”

ในช่วง 2 ปีแรกตระกูลใหญ่ของโคโรนาไวรัส 2019 ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างมากได้เกิดขึ้นและถูกแทนที่ด้วยตระกูลใหญ่ถัดไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตระกูลไวรัสอู่ฮั่น ได้ถูกแทนที่ด้วยตระกูล อัลฟา, เบตา, แกมมา, เดลตา และ โอมิครอน ตามลำดับ

ย่างเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 ในยุคของตระกูลโอมิครอนกลับมีวิวัฒนาการเกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์ (omicron subvariants) พร้อมกัน

ที่น่าสนใจมากคือส่วนหนามของโอมิครอนแต่ละสายพันธุ์ย่อยมีตำแหน่งกลายพันธุ์ทั้งที่ซ้ำกับสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิมประหนึ่งเป็นการรีไซเคิล (recycle) นำตำแหน่งการกลายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ได้ผล (ในการหลบเลี่ยงภูมิ หรือจับกับผิวเซลล์) กลับมาใช้ใหม่ผสมผสานกับการกลายพันธุ์ตำแหน่งใหม่ซึ่งจำเป็นใช้แข่งขันกันเองเพื่อการอยู่รอดในหมู่ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย

ในยุคโอมิครอนที่มีสายพันธุ์ย่อยอุบัติขึ้นมามากมายจึงเปรียบเสมือนเป็นองค์ประกอบของซุป (หากเป็นวลีไทยอาจเรียกว่า "รวมมิตรโอมิครอน” ก็เป็นได้) โดยแต่ละภูมิภาคของโลกจะมีการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน