วันที่ 2 พ.ย.2565 ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขตราชเทวี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนป้องกันเหตุร้ายช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า เรื่องสำคัญคือการสร้างโป๊ะให้แข็งแรง และสร้างท่าน้ำให้มีความลาดลึกน้อยลง มาตรการเดิมที่มีอยู่คือ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบนบกและมีเจ้าหน้าที่มนุษย์กบเฝ้าระวังในน้ำ พร้อมเรือฉุกเฉินและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการตั้งรับที่ปลายเหตุ หมายถึงเกิดเหตุแล้วเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่กังวลคือ เทศกาลลอยกระทงในปีนี้ เป็นงานแรกที่มีการผ่อนคลายมาตรการหลังจากโควิดประกอบกับข่าวโศกนาฏกรรมอิแทวอน ทำให้มีความกังวลพอสมควร เพราะเทศกาลนี้มีคนทุกช่วงวัยออกมาร่วมงานจำนวนมาก จึงแบ่งความกังวลและการรับมือเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.การควบคุมอุบัติเหตุหรือเหตุร้ายต่างๆ ทำได้ยากพอสมควร เพราะจำนวนคนหนาแน่น 2.มีการรายงานนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม และคาดว่าจะเข้ามาสมทบกับเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึงนี้ จึงจำเป็นต้องกำหนดทางเข้าออกของงานต่างๆ ให้ชัดเจน รวมถึงมีแผนกระจายข่าวเพื่อลดความตระหนกหากเกิดเหตุไม่คาดคิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งนี้ ได้สั่งการทุกหน่วยงานทั้งเทศกิจ สำนึกแพทย์ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยลงประจำพื้นที่ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังประจำจุด โดยเฉพาะจุดใหญ่ที่คาดว่าจะมีคนหนาแน่น
ส่วนแผนป้องกันเหตุ คือ 1.วันที่ 4 พ.ย.นี้ จะมีการลงพื้นที่ตรวจสภาพโป๊ะและสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงท่าน้ำต่างๆ พร้อมประสานตำรวจน้ำและกรมเจ้าท่าเพื่อเตรียมจุดจอดเรือและเส้นทางช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งนี้ มีความกังวลและเฝ้าระวังโป๊ะขนาดเล็กที่อาจไม่ได้มาตรฐาน กระทั่งจุดถ่ายภาพต่างๆ ที่คาดว่าประชาชนจะไปรวมตัวกัน เพราะอาจทำให้มีน้ำหนักเกินโป๊ะรับไหว และอาจมีการเบียดกันจนพลัดตกน้ำได้ จึงสั่งการให้เน้นเรื่องการควบคุมความหนาแน่นของผู้เข้าร่วมงานเป็นหลัก พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยต้องรวดเร็วในการสังเกตการณ์เฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุ 2.สั่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณริมน้ำซึ่งอาจมีคนหนาแน่นและเกิดการพลัดตกได้ 3.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะลงพื้นที่ร่วมกับนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้จัดงานเว้นทางเดินให้กว้างขึ้น และกำหนดทางเข้าออกให้ชัดเจน เพื่อให้ทางเดินไม่แออัดเกินไป ขณะเดียวกันก็สะดวกต่อการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่หากเกิดเหตุไม่คาดคิด
สำหรับเทศกาลลอยกระทงในปีนี้กำหนดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. จะมีการจัดงานทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร โดยมีจุดใหญ่คือ สะพานพระราม 8 คลองโอ่งอ่าง สวนสันติชัยปราการ ไอคอนสยาม ซึ่งจุดเหล่านี้มีความกังวลเรื่องคนหนาแน่น และมีความเสี่ยงเกิดเหตุสูง จึงต้องเฝ้าระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกพื้นที่มีความสำคัญเท่ากันหมด ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะผู้บริหารเรื่องมาตรการความปลอดภัยของแต่ละเขตเพื่อเสนอแผนป้องกันที่ชัดเจนต่อไป
“ขอความร่วมมือ ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่ไปเดินปะปนอยู่กับประชาชน ขอให้เข้าใจว่าเราไปช่วยรักษาความปลอดภัย เพื่อให้งานเฉลิมฉลองเป็นไปอย่างสบายใจของทุกฝ่าย ขอให้เน้นเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องไฟไหม้ในสถานที่จัดงานและบ้านเรือนประชาชน” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว