นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยในสวนสาธารณะของ กทม.ในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้เปิดสวนสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง เพื่อสืบสานประเพณีในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2565 ในวันอังคารที่ 8 พ.ย.65 ระหว่างเวลา 05.00 - 24.00 น. จำนวน 33 สวน ในพื้นที่ 22 เขต โดยมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในสวนสาธารณะ ประกอบด้วย (1) จัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ของสวนในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ประสานขอความร่วมมือสำนักงานเขตพื้นที่จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ร่วมปฏิบัติงาน ณ กองอำนวยการร่วมของแต่ละสวน และได้ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเป็นระยะ ๆ ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันตนเองจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ซึ่งทุกสวนจะมีเจลแอลกอฮอล์ตั้งวางไว้ในจุดทางเข้าสวน เพื่อให้บริการประชาชน
(2) สวนสาธารณะต่าง ๆ ได้กำหนดพื้นที่ริมแม่น้ำ คลอง สระน้ำที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตราย เพื่อให้ประชาชนลอยกระทง โดยได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของท่าน้ำและดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายเมื่อประชาชนลงไปลอยกระทง รวมทั้งประสานสถานีดับเพลิงในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมรถและอุปกรณ์ดับเพลิงเข้าประจำในพื้นที่ (3) แจ้งประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเป็นระยะ ๆ ให้ผู้มาใช้บริการทราบว่าห้ามจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟภายในสวนและจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจตรา และ (4) จัดเตรียมอุปกรณ์ห่วงยาง เสื้อชูชีพ เรือพาย เพื่อเข้าช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ตลอดจนขอความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในพื้นที่จัดหน่วยแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์เข้าร่วมปฏิบัติงาน ณ กองอำนวยการร่วมของแต่ละสวน
สำหรับการเตรียมจัดเก็บกระทงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตได้จัดทำแผนการจัดเก็บและคัดแยกกระทงในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2565 โดยเริ่มเก็บกระทง ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 8 พ.ย.65 จนถึงเวลา 05.00 น.ของเช้าวันรุ่งขึ้น โดยสำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 9 - สะพานพระราม 8 โดยใช้ยานพาหนะ ประกอบด้วย เรือชนิดต่าง ๆ 37 ลำ รถเก็บขนมูลฝอยและรถตรวจการณ์ 14 คัน มีข้าราชการและลูกจ้างปฏิบัติงาน 199 คน พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยให้ติดตั้งไฟกระพริบบริเวณท้ายเรือ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ สวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน มีเสื้อชูชีพ พร้อมห่วงชูชีพช่วยเหลือกรณีตกน้ำประจำเรือทุกลำ
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง เพื่อเชิญชวนประชาชน รวมถึงสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองในพื้นที่ที่มีการจัดงานลอยกระทง ขอให้งดใช้กระทงโฟม เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เชิญชวนให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะ งดการใช้กระทงโฟม เปลี่ยนมาใช้กระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ง่ายไม่ทำลายสภาพน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดปริมาณกระทงที่จะใช้ลอยให้น้อยที่สุดด้วยการลอยกระทง 1 ครอบครัว 1 กระทง