วันที่ 31 ต.ค.65 ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง "คอร์รัปชันในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ" ระบุว่า ...

ทำไมคนไทยถึงมีปืนในครอบครองจำนวนมาก ทำไมปืนเถื่อนจึงหาซื้อได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต ตำรวจขโมยปืนหลวงเพิ่งมีจริงหรือ แล้ว “ปืนสวัสดิการตำรวจ” มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร คำตอบที่เหมือนกันทุกประเด็นคือ ผลประโยชน์ที่เกิดจาก “คอร์รัปชัน”

โครงการปืนสวัสดิการฯ เริ่มเรื่องด้วยการเสนอขอของ สตช. ไปยังกระทรวงมหาดไทย และเมื่อผู้ใดต้องการซื้อปืน กระบวนการออกใบอนุญาตจะให้ซื้อ ให้ครอบครอง ให้พกพา จะอยู่ในอำนาจของ กรม จังหวัดและอำเภอ แล้วแต่กรณี

คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบโดยอาศัยอำนาจและขั้นตอนของราชการ สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในหลายระดับ หลายหน่วยงาน รวมถึงพ่อค้าปืนและผู้ซื้อปืน

1. ปี 2563 มีการอนุมัติโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ มีทั้งปืนสั้น - ปืนยาวรวมกันอย่างน้อย 127,116 กระบอก ในเวลาต่อมาปืนเหล่านี้เปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกสังกัด รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงข้าราชการบำนาญก็มีสิทธิซื้อได้ด้วย ปืนเหล่านี้ขายถูกกว่าราคาปืนทั่วไปในตลาดราวครึ่งหนึ่ง เพราะได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีในการนำเข้า

2. เมื่อ 28 ตุลาคม 2565 พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. แถลงข่าวการระงับโครงการปืนสวัสดิการฯไม่มีกำหนด เนื่องจากพบเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยใช้ใบอนุญาตให้ซื้อปืน (ป.3) ไปวนซื้อปืนมาจำหน่ายนอกระบบ กลายเป็นปืนเถื่อนหรือไม่ก็ลักลอบจำหน่ายออกนอกประเทศ

3. “สินบนโควตาปืน” เอกชนรายใดที่ต้องการโควตานำเข้า/จำหน่ายปืนตามโครงการนี้ ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้ผู้มีอำนาจบางคน ในอัตรา 5,000 – 8,000 บาทต่อกระบอก ตามชนิดปืน

4. “สินบนใบ ป.3 - ป.4” ผู้ซื้อปืนต้องยื่นขอใบอนุญาตซื้อปืน (ป.3) ใบอนุญาตให้มีและใช้ปืน (ป. 4) ตามขั้นตอนจากหน่วยงาน “ฝ่ายปกครอง” โดยทั่วไปร้านขายปืนจะเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง รวมเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่บางคนอีก 3,000 – 10,000 บาทต่อกระบอก ขึ้นอยู่กับชนิดปืนและประวัติว่าบุคคลนั้นมีปืนมาแล้วกี่กระบอก

5. ผู้ซื้อปืนฯ บางรายสมัครใจซื้อโดยไม่รับของ แต่ฝากไว้ขายกับร้านปืน บางรายขายปืนเมื่อหมดระยะบังคับห้ามโอนห้ามขายต่อ ส่วนมากขายผ่านร้านที่ตนซื้อและเป็นปืนที่ไม่ผ่านการใช้งาน

6. เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ครอบครองปืนหลวงหรือปืนสวัสดิการก็ตาม เมื่อขัดสนเงินทองก็เอาปืนไปจำนำ หากสุดวิสัยก็ปล่อยขาดหรือขายไปแล้วทำเรื่องแจ้งหาย โดยยอมชดใช้และรับโทษทางวินัยหากเป็นปืนหลวง ซึ่งกินเวลานานกว่าเรื่องจะแดงขึ้นมาและการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้น

โครงการปืนสวัสดิการ มีมาหลายครั้งแล้วในรอบหลายสิบปี ครั้งนี้คำแถลงของท่านรอง ผบ.ตร. ให้หยุดโครงการฯ จึงเป็นก้าวที่กล้าหาญและถูกต้อง

เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของสังคมจากอาชญากรรมที่ใช้ปืนเป็นอาวุธ จำเป็นที่คนไทยต้องร่วมกันติตตาม กดดันให้ผู้มีอำนาจและผู้นำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับแสดงความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหาที่มีในโครงการปืนสวัสดิการตำรวจให้หมดไป

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก มานะ นิมิตรมงคล