วันที่ 30 ต.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

30 ตุลาคม 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 218,798 คน ตายเพิ่ม 516 คน รวมแล้วติดไป 635,250,163 คน เสียชีวิตรวม 6,593,143 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อิตาลี และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.87 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.14

...COVID variant soup

ภาพรวมของทั่วโลก Omicron นั้นมีการกลายพันธุ์ เกิดลูกหลานจำนวนมากถึง 390 สายพันธุ์ย่อย

ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยที่เป็นที่กังวลและจับตามองนั้นมีหลายตัว อาทิ XBB, BQ.1.x และอื่นๆ ซึ่งมีสมรรถนะการขยายการระบาดสูงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถฟันธงว่าจะมีตัวใดโดดๆ ที่มีสัดส่วนการระบาดที่เด่นกว่าเพื่อน เพราะแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค มีสายพันธุ์ที่เด่นต่างกันไป เช่น BQ.1.x ในยุโรปและอเมริกา ส่วน XBB ปรากฏในสิงคโปร์ อินเดีย และบังคลาเทศ

จึงมีการคาดการณ์ว่า ระลอกปลายปีที่จะมีโอกาสปะทุนั้นน่าจะเกิดจากหลายสายพันธุ์ เปรียบเป็น COVID variant soup

...สภาพแวดล้อมในสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านของระลอกการระบาดเช่นนี้ มีความไม่แน่นอนสูง

"Manage the manageable" จึงเป็นหลักการที่เราทุกคนพิจารณาทำ เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ความรู้วิชาการแพทย์ชี้ชัดแล้วว่า โควิดไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ ติดเชื้อแล้วอาจป่วย เสียชีวิต และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้

การติดเชื้อเพิ่มแต่ละครั้ง ย่อมเพิ่มความเสี่ยงเป็นเงาตามตัว

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ตัวเราลดความเสี่ยงลงเท่าที่จะทำได้...

หนึ่ง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ลดละเลี่ยงที่แออัด สถานที่ระบายอากาศไม่ดี และหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ทั้งร่างกาย และสิ่งของที่ใช้

สอง ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างตะลอนออกนอกบ้าน

สาม ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามที่กำหนด

สี่ หากรู้สึกไม่สบาย ควรรับผิดชอบต่อตนเอง สมาชิกในครอบครัว และสังคม ไปตรวจรักษาให้หายดี ก่อนจะไปคลุกคลีกับคนอื่น และเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัวไม่ให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น

ห้า หากเป็นเจ้าของกิจการใดๆ ควรเอื้อเฟื้อ หมั่นตรวจตรา ดูแลบุคลากรและลูกค้าของตนให้ดี จัดระบบงาน การบริการ และสิ่งแวดล้อมให้ลดความเสี่ยงลง "ใส่ใจเขา กิจการเราก็ดำเนินไปได้ด้วยดี"

อ้างอิง

Callaway E. COVID ‘variant soup’ is making winter surges hard to predict. Nature. 28 October 2022.