วันที่ 29 ต.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า ...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 241,442 คน ตายเพิ่ม 807 คน รวมแล้วติดไป 634,915,989 คน เสียชีวิตรวม 6,591,543 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อิตาลี และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.09 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.78

...อัพเดตเกี่ยวกับ BQ.1.x และ XBB

คณะที่ปรึกษาวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาของสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 หรือ WHO's Technical Advisory Group on SARS-CoV-2 Virus Evolution (TAG-VE) ได้ออกแถลงการณ์หลังประชุมหารือเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เมื่อ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ จากการทบทวนข้อมูลวิชาการจนถึงปัจจุบัน สายพันธุ์ย่อย XBB และ BQ.1.x นั้น แม้จะมีการกลายพันธุ์ไปมาก แต่ยังถือว่าเป็นสายพันธุ์ Omicron โดยยังไม่มีความจำเป็นจะต้องประกาศเป็นสายพันธุ์ใหม่ และจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เช่นเดิม และจะมีการติดตามข้อมูลต่อไปอย่างใกล้ชิด

สำหรับสายพันธุ์ย่อย XBB:

เกิดจากการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อย BA.2.10.1 และ BA.2.75

ปัจจุบันตรวจพบความชุกของ XBB ราว 1.3%

กระจายไป 35 ประเทศทั่วโลก

แม้ดูเหมือนว่าความรุนแรงของโรคอาจไม่แตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าอาจมีอัตราการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) สูงกว่าสายพันธุ์อื่นที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนที่สายพันธุ์ Omicron จะระบาด

จากสมรรถนะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ XBB โอกาสจะแพร่ระบาดวงกว้างนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อัตราการติดเชื้อจากการระบาดในแต่ละพื้นที่ รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนของประชากร

สำหรับสายพันธุ์ย่อย BQ.1.x:

เป็นสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.5

ปัจจุบันมีความชุกอยู่ราว 6%

กระจายไปแล้ว 65 ประเทศทั่วโลก

ข้อมูลปัจจุบันจากหลายพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า BQ.1.x มีสมรรถนะการขยายตัว (growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

จากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ มีแนวโน้มที่จะทำให้ไวรัสนี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น และอาจทำให้มีอัตราการติดเชื้อซ้ำสูงขึ้นได้

ทั้งนี้พบว่า การฉีดวัคซีนที่มีอยู่ทั้งรุ่นดั้งเดิม และรุ่นใหม่แบบ Bivalent นั้น อาจได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อ BQ.1.x ได้ลดลงกว่าเดิม แต่ยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการลดการป่วยรุนแรง

...สำหรับคนไทย

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ถือเป็นเรื่องสำคัญ

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยให้เตรียมรับมือกับการระบาดใหม่ที่อาจปะทุขึ้นช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และลดความเสี่ยงต่อ Long COVID

เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

TAG-VE statement on Omicron sublineages BQ.1 and XBB. WHO. 27 October 2022.

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat