วันที่ 28 ต.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานพิธีเปิดตัวโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมรับมอบเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) แก่สถานศึกษาต้นแบบ โดยมีดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร สสส. หน่วยงานเกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพ ก็เหมือนกับมหานครอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการก่อสร้างถนน รถไฟฟ้า ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน เนื่องจากฝุ่น PM2.5 สามารถแพร่กระจายได้แบบไม่มีขอบเขตพื้นที่ และอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต จึงเป็นความท้าทายของทุกหน่วยงานที่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและเร่งด่วน โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุน ระดมสรรพกำลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด บรรลุผลเป้าหมาย กรุงเทพมีค่าฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภายในปี 2566 ทำให้กรุงเทพเป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

“ ห้องเรียนสู้ฝุ่น เป็นการให้ความรู้พื้นฐานกับนักเรียน โรงเรียนนำร่อง 34 แห่ง รร.กทม. 33 และรร.เอกชน 1 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเยาวชนได้รับผลกระทบมากที่สุด ถ้ามีความรู้ก็สามารถนำไปขยายต่อให้กับครอบครัว รวมถึงป้องกันตัวเอง เป็นโครงการที่ดีของทาง สสส. ที่เน้นการป้องกัน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีเด็กเป็นตัวช่วยขยายต่อองค์ความรู้ กทม.ก็มีโครงการที่ทำต่อในเรื่องของการรณรงค์กำจัดต้นตอของฝุ่น การป้องกันให้อุปกรณ์หน้ากากอนามัยกับกลุ่มเปาาะบาง ซึ่งได้เตรียมไว้ 2 แสนกว่า สามารถป้องกันได้รัดับหนึ่ง “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัยทั้งในพื้นที่กรุงเทพและหลายจังหวัด โดยมีแหล่งกำเนิด และช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเพิ่มโอกาสเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วง พ.ย. - มี.ค. ของทุกปี ซึ่ง สสส. ได้สานพลังทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ "ห้องเรียนสู้ฝัน" สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงผ่านการเรียนการสอนจากครูสู่เด็กและเยาวชน ส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคม มุ่งเป้าสำคัญ 3 ประการ 1.สร้างสถานศึกษาต้นแบบรับมือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพ 2.พัฒนาระบบข้อมูลองค์ความรู้ และสื่อ ให้เป็นเครื่องมือในการขยายผลและสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องระดับชุมชน สำนักงานเขตและสังคม 3.สานพลังหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพ รับมือกับภัยจากฝุ่น PM2.5 ร่วมกัน มีแผนจัดกิจกรรมธงสุขภาพ ครอบคลุม 437 โรงเรียนในสังกัด กทม.

​​​​​​​ ​​​​​​​

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่าย กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ศูนย์พัฒนาการสื่อสารต้านภัยพิบัติ-ThaipBs สำนักการศึกษา และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม เปิดตัวและอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" เพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา เอกชน เข้าร่วม 34 โรงเรียน