เรียบร้อยโรงเรียน “TRUE - DTAC” กับความตั้งใจในการควบรวมกิจการให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต่อการขับเคลื่อนธุรกิจโทรคมนาคมให้อยู่รอดต่อไป ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง ที่ยืดเยื้อมากว่า 9 เดือน
ซึ่งการฟันธงของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “บอร์ด กสทช.” ที่เป็นผู้กำกับดูแล และเป็นผู้ฟันธงในการอนุญาตควบรวมในครั้งนี้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การประชุมวันนั้นเป็นแบบมาราธอนกว่า 11 ชั่วโมง จนได้ข้อสรุป!!!
สุดท้าย “บอร์ด กสทช.” มีมติ 3:2 รับทราบและอนุญาตให้ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ TRUE ควบรวมกิจการกับ “บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ DTAC
แม้ตอนนี้ฝ่ายไม่เห็นด้วยประกาศยื่นฟ้องควบรวมกิจการ เนื่องจากเมื่อควบรวมกิจการแล้วเท่ากับว่า ผูกขาดธุรกิจ ต้นทุนค่าบริการรายเดือนโทรแบบข้อความ โดยเฉพาะดาต้า ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
แต่ทาง “TRUE” พร้อมเดินหน้าหลังจาก กสทช.มีมติให้ควบรวมกิจการ โดยแหล่งข่าวจากTRUE เล่าว่า จากนี้ต้องดำเนินการตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ จัดตั้งบริษัทฯขึ้นมาใหม่ ก่อนจัดตั้งบริษัทใหม่ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริษัท รับทราบ และมีมติเห็นชอบ จากนั้นรายงานผลสรุปกับผู้ถือหุ้น เมื่อผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่ายคือ TRUE และ DTAC เห็นชอบควบรวมกิจการ จากนั้นยื่นเรื่องไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ จากนั้นยื่นความจำนงควบรวมกิจการไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565
พร้อมกันนี้มีเสียงลือสะพัดในแวดวงโทรคมนาคมถึงชื่อบริษัทใหม่หลังควบรวมกิจการสำเร็จ โดยทั้ง “TRUE” และ “DTAC” ใช้ชื่อแบรนด์ใหม่ในการทำธุรกิจว่า “TRUE-D”
และเมื่อพลิกดูสินทรัพย์ของ TRUE และ DTAC ณ ไตรมาส 2/2565 มีดังนี้ “TRUE-DTAC” สินทรัพย์รวม 8 แสนล้าน แบ่งเป็น TRUE มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 615,637.66 ล้านบาท และ DTAC มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 159,759.91 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ “AIS” มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 349,517.28 ล้านบาท
ขณะที่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) มองว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 3 : 2 รับทราบการควบรวมกันระหว่าง “TRUE-DTAC” ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 โดยทาง กสทช. ได้กำหนดมาตรการเฉพาะที่จะใช้กำกับ เช่น ต้องลดค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ใน 90 วัน , ต้องแยกแบรนด์กัน 3 ปี, และ ต้องมีโครงข่าย 5 จี ต้องครอบคลุม 85% ของประชากรใน 3 ปี
ฝ่ายวิจัยมองว่าข่าวนี้เป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มมือถือ ดังนี้ 1. เป็นบวกต่ออุตสาหกรรมการให้บริการมือถือ เพราะหลังการควบรวม จำนวนผู้เล่นหลักในตลาดผู้ให้บริการมือถือลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มจะลดความรุนแรงลงจากปัจจุบันได้
2. เป็นบวกต่อ TRUE และ DTAC ในด้านของศักยภาพในการแข่งขันจากฐานลูกค้าที่จะเพิ่มจากสิ้นงวดไตรมาส 2/65 ที่มีลูกค้าอยู่ 33.3 ล้านราย และ 20.3 ล้านราย ตามลำดับ เป็น 53.6 ล้านราย หรือ มีส่วนแบ่งการตลาดฐานลูกค้าประมาณ 50% นอกจากนี้ ยังคาดหวังผลประกอบการที่ดีขึ้นจากต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่จะลดลง
สำหรับมาตรการต่าง ๆที่ กสทช. ออกมา มองว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ TRUE และ DTAC ยอมรับได้ แต่อาจจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ตรงกันกับกสทช. ก่อน โดยประเด็นสำคัญ คือ การที่จะต้องลดราคาค่าบริการเฉลี่ย 12% และการห้ามลด Cell site ซึ่งเรื่องค่าบริการที่จะลดลง มองว่าน่าจะชดเชยได้ด้วยการประหยัดต่อขนาด (Economy of scales) ที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวม ขณะที่เรื่อง Cell site ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่จะลดต้นทุนได้
อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่อไป คือ TRUE และ DTAC จะมีการจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUE และ DTAC (ราคาเสนอซื้อที่ 5.09 บาท และ 47.76 บาท ตามลำดับ) และ จัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง TRUE และ DTAC เพื่อให้อนุมัติเกี่ยวกับบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวม จึงจะดำเนินการตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดได้ในปลายปีนี้ หรือ ต้น ม.ค.66
ทั้งนี้ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” DTAC (ราคาเป้าหมายรวมประโยชน์จากการควบรวม 58.0 บาท) แต่แนะนำ SWITCH จาก TRUE ไป DTAC (ราคาเป้าหมาย 5.70 บาท) หลังราคาหุ้น TRUE ขึ้นมาสูงกว่าราคาเสนอซื้อแล้ว และ ทำให้คิดเป็นต้นทุนในการแปลงเป็นบริษัทใหม่ที่สูงกว่าการแปลงจาก DTAC ไปเป็นบริษัทใหม่
“บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)” มองเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมในระยะยาวในแง่การแข่งขันที่จะทยอยลดลง และ เอื้อต่อการทำกำไรมากขึ้น ราคาหุ้น TRUE-DTAC มี Upside จำกัดเทียบกับราคา Tender Offer เราแนะนำ “เก็งกำไร” ส่วน ADVANC จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม แนะนำ “ซื้อ”
“บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)” มองว่า ทั้งสองบริษัทจะเดินหน้าควบรวมบริษัท โดยกระบวนการทําคําเสนอซื้อคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. และ กระบวนการแลกเปลี่ยนหุ้นว่า จะเกิดในเดือน ธ.ค. และ หุ้นใหม่ของ mergeco น่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้นักลงทุนต้องติดตามเงื่อนไขของกสทช.
โดยคาดว่า ราคาเสนอซื้อ (VTO) ของ DTAC ที่ 47.76 บาท และ ของ TRUE ที่ 5.09 บาท จะเปลี่ยนจากแนวต้านเป็นแนวรับ โดยคงมุมมองเชิงบวกต่อการควบรวมของทั้งสองบริษัทจากการสร้าง มูลค่าเพิ่มผ่านการลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ แนะนํา Outperform สำหรับ DTAC ที่ราคาเป้าหมาย 58.43 บาท และ TRUE ราคาเป้าหมาย 6.28 บาท
หลังจากนี้!! จับตามองการควบรวม “TRUE และ DTAC” ว่า จะมีความคืบหน้าอย่างไร!?! จะ “ราบรื่น” หรือ “อุปสรรคขวากหนาม” แค่ไหน การแข่งขันทางธุรกิจจะพุ่งอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ได้เห็นคำตอบเร็ว ๆ นี้