บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

“I agree to disagree.”

ขอเริ่มต้นด้วยคำว่า “ความเห็นต่าง” (อ้างจาก อ.อดัม) ที่เห็นว่าเป็นจุดสำคัญในการเหยียดด้อยค่า (Bullying) เพราะต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นที่ไม่ลงรอย สอดคล้องกัน เป็นโลกของคนเห็นต่างที่มีอยู่ในทุกสังคม ทุกชนชั้น ทุกช่วงวัยอายุ ทุกสังคม ในที่นี้หมายรวมถึงความแตกต่างในวิถีความคิด ปรัชญาแนวคิดด้วย

เป็นธรรมชาติของมนุษย์(คน, human being, a mankind) ฉะนั้น คนต้องเรียนรู้ใฝ่หาเพื่อ “การอยู่กับความแตกต่างอย่างเข้าใจ” เพราะ ชีวิตคนเราอาจมีใครบางคนที่ผ่านเข้ามาเพื่อให้ได้เรียนรู้คำว่าความแตกต่างและจากไปด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่เพื่อให้ความแตกต่างใหม่ๆ เข้ามา

ท่ามกลางสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทั้งหน้าที่การงาน การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป คนต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมเข้ากับสภาพแวดล้อม (environment) ที่เปลี่ยนไป แต่ละคนย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันไปบ้างในมุมมองของแต่ละคน (aspect, view, vision) แต่ความแตกต่างในคิดต่างๆ เหล่านั้น เพราะด้วยมีเหตุผลที่ต่างกัน แต่ทุกคนต่างล้วนเป็นเพื่อนกัน เปรียบความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ไม่แตกแยกกัน เสมือนกับ “ต้นไม้นานาชนิด นานาพันธุ์ ที่อยู่ในป่า ทำให้ป่านั้น มีความหลากหลาย (diversity) แต่อยู่รวมกันได้”

ผู้เขียนขอวกมาเปรียบเทียบความเห็นต่าง กับ เทคโนโลยีสมัยใหม่ กล่าวคือความแตกต่างขัดแย้งในแนวคิดของคนรุ่นต่างๆ ที่เรียกว่า Generation Conflict คือ เป็น Generation Gap หรือเกิด Digital Gap ในคนระหว่างรุ่นที่รับรู้เทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างกันมาตามช่วงอายุที่เกิด เพราะว่า “โลกของความคิด โลกของความรู้สึก กับ โลกของความจริง” มันไม่เหมือนกัน เราต้องยอมรับใน “โลกแห่งความเป็นจริง” (real, reality world) ที่มิใช่ความฝัน ก่อนที่จะกล่าวถึงโลกเสมือนจริง (Metaverse) ลองมาดูเทคโนโลยีสำคัญคือ เทคโนโลยี AI

ความสำคัญของเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์  

นิยามความหมายหลากหลายสรุปจาก Deloitte และ Alan Turing รวมความได้ว่า เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็คือการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์นั่นเอง

ปัจจุบัน “AI หรือปัญญาประดิษฐ์” เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก ขอยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการคุยโต้ตอบของ Siri หรือ การยิงโฆษณา Facebook และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการพัฒนา AI เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือที่เรียกว่า Metaverse (จักรวาลนฤมิต) ที่คนทั้งโลกกำลังเฝ้าจับตามอง นับเป็นมิติใหม่ของธุรกิจ แม้ว่าปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เมื่อไม่นาน แต่ขอบเขตความกว้างขวางยังต้องมีการพัฒนาได้อีกเรื่อยๆ เป็นการพัฒนาต่อยอดยุคแรกเริ่มของโลกอินเทอร์เน็ตเรื่อยมา จากการระบาดของโควิด-19 จนเป็นเหตุให้เกิดการล็อกดาวน์กันทั่วโลก และยังได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป สถานการณ์โควิดในรอบ 3 ปีได้ก่อให้เกิดวิวัฒนาการ การพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ล้ำหน้า เพราะทุกกิจกรรมได้ทยอยกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI

มีตัวอย่างประเภทของเทคโนโลยี AI และตัวอย่างการใช้งานทางธุรกิจ จากการศึกษาของ Harvard Business Review หากมองเทคโนโลยี AI ในมุมของการนำ AI มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ AI สามารถช่วยตอบโจทย์ธุรกิจได้ใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ (1) Process automation เป็นประเภทของ AI ที่สามารถพบเจอได้มากที่สุดในการนำ AI ไปใช้ในภาคธุรกิจ โดยการนำระบบ automation มาใช้ในการทำงานทั้งในรูปแบบที่เป็นแบบดิจิทัล และเอกสารจับต้องได้ กับงานที่เป็น Back-office และกิจกรรมทางการเงิน ผ่านทางระบบ Intelligent Document Processing หรือการประมวลผลเอกสารอัจฉริยะ (2) Cognitive Insight การใช้ Algorithms ในการหารูปแบบจากข้อมูลจำนวนมาก และสามารถแปลความหมายจากข้อมูลเหล่านั้นได้ ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ” (3) Cognitive Engagement ประยุกต์ใช้กับโปรเจกต์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือพนักงานในองค์กร โดยใช้แชตบอต หรือผู้ช่วยอัจฉริยะ ตัวอย่างการใช้งานทางธุรกิจ เช่น Call center อัจฉริยะ ที่สามารถให้บริการได้ 24 ชั่วโมง

ประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับธุรกิจ ในหลากหลายด้าน ขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละธุรกิจว่าต้องการนำระบบ AI ไปช่วยพัฒนาธุรกิจในด้านใด อ้างอิงข้อมูลจาก Accenture ได้สรุปเกี่ยวประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ไว้ดังต่อไปนี้คือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (End-to-End) : ระบบ AI ช่วยลดความขัดแย้ง และพัฒนาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นเทคโนโลยี AI ยังช่วยให้กระบวนการทำงานเดิมที่มีความซับซ้อนสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ และช่วยลดเวลาที่เครื่องจักรไม่ทำงานด้วยการคาดการณ์ความต้องการในการซ่อมแซมเครื่องจักรได้แบบล่วงหน้า เช่น ข่าวงานออกแบบขวดน้ำหอม ตามเอกลักษณ์ประเทศที่หลากหลาย ที่สดสวยงาม เป็นต้น

ในขณะที่เมื่อ 23 สิงหาคม 2565 รัฐบาลเมืองปักกิ่ง ประกาศแผนนวัตกรรมและการพัฒนาเมตาเวิร์สระยะเวลา 2 ปี (2022-2024) กำหนดให้เทศบาลเมืองต่างๆ ติดตามเทรนด์เทคโนโลยี NFT และบูรณาการเมตาเวิร์สเข้ากับการศึกษาและการท่องเที่ยว

ข่าวการเปิด “ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat AI Center) เมื่อ 22 กันยายน 2565 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หนุนเด็กรุ่นใหม่เรียน AI ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนดิจิทัลฯ มุ่งวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างระบบนิเวศรับตัวเลขมูลค่าตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงถึง 565 ล้านล้านบาท ในปี 2573 และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงสุดถึง 26% มีโครงการ TU Metaverse ที่จะสร้าง campus ที่ 5 ใน Metaverse พร้อมหลักสูตร AI ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สอน online และ offline

แน่นอนว่าในวงงานราชการก็นำมาใช้ เช่นข่าว รมว.มท. ประยุกต์ใช้ AI ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เสริมระบบการคัดคนดีเข้าทำงาน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปประเทศ โดยข้าราชการต้องสอบเข้ามีระบบคัดกรอบคุณธรรม ใช้ AI สกรีนเรื่องร้องเรียน อปท.ถูกร้องเรียนทุจริตกว่า 2,000 เรื่อง ซึ่งในภาพรวมใน 3 ปีที่ผ่านมาในด้านการทุจริตคอร์รัปชัน อปท.มีแนวโน้มน้อยลง

ทักษะสำคัญที่เด็กยุค AI ต้องมี

โลกหมุนเร็วมาก ต้องปรับตัวให้เร็ว แล้วเด็กๆ รุ่นใหม่รุ่นลูกยุค AI โดยเฉพาะเจนอัลฟ่า จะต้องปรับตัวอะไรบ้าง เตรียมความพร้อมลูกๆ เพื่อรับมือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมาเรียนรู้กัน ด้วยสมมติฐานว่า เมื่อโลกได้เปลี่ยนไป ความต้องการก็ย่อมเปลี่ยนแปลง 8 ทักษะ (อ้างจาก Starfishlabz, 2564) คือ

(1) Coding (การเขียนโปรแกรม) (2) Robotics (วิศวกรรมหุ่นยนต์) (3) Logical Thinking (การคิดอย่างเป็นเหตุผล) (4) Creative Problem Solving (การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์) (5) Authentic Learning (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง) (6) Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) (7) Teamwork (การทำงานเป็นทีม) (8) Resilience (การรับมือกับอุปสรรค) ซึ่งนอกจากจะฝึกให้ลูกๆ เก่งแล้ว พ่อแม่ควรฝึกฝนให้พวกเขาสามารถ “รับมือ” กับปัญหาและอุปสรรคได้ด้วย นอกจากนี้เด็กๆ ควรที่จะสามารถอดทนอดกลั้นกับความกดดัน และจัดการกับอารมณ์เมื่อพบเจอปัญหาหรือความล้มเหลวได้ คิดว่าหากพ่อแม่อยากจะเริ่มฝึกตอนนี้ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูก “ตัดสินใจด้วยตัวเอง” ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าสิ่งนั้นมันไม่ถูกต้องก็ตาม แต่เราควรปล่อยให้เขาเรียนรู้ และ “รับมือ” กับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เขาได้ฝึกและเผชิญกับปัญหา ความรู้สึกนี้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และทำให้เขาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง

ในงานประชุม-แสดงนวัตกรรมพร้อมต่อยอดธุรกิจที่ยั่งยืน APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022, สวทช. ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2565 นำเสนอ 10 เทคโนโลยีพลิกโฉม “ธุรกิจไทยยุค New Normal”  ในงาน “APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022)” ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สรุป 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างชัดเจนใน 5 - 10 ปีข้างหน้า ขอยกตัวอย่าง หนึ่งในเทคโนโลยีนั้นก็คือ เทคโนโลยี AI คือ เอไอแบบรู้สร้าง : Generative AI เทคโนโลยี AI ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย และมีข้อมูล Big Data มากมายตลอดเวลา เช่น ใช้ช่วยการสเกตช์ภาพใบหน้าคนร้าย เทคนิคการสร้างแบบจำลองที่เรียกย่อว่า แกน (GAN, Generative Adversarial Networks) ใช้สร้างภาพใบหน้าที่สมจริง มีความละเอียดสูง นำไปใช้สร้าง Virtual Influencer ที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อทำหน้าที่เป็นนักร้อง ผู้ประกาศข่าว เสมือนจริงได้

ในประเทศไทย เนคเทค ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Generative AI มาอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้าง VAJA ที่เป็นระบบการสังเคราะห์เสียงจากข้อความภาษาไทย เพื่อสร้างคำบรรยายภาพที่เป็นภาษาไทยอย่างอัตโนมัติ และโครงการ Z-Size Ladies ที่เป็นระบบการจำลองรูปร่างแบบ 3 มิติ สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ระยะ 2-40 สัปดาห์ ม.เกษตรศาสตร์ใช้ GAN เรียนรู้สไตล์ฟอนต์ภาษาอังกฤษ เพื่อประยุกต์สร้างฟอนต์ภาษาไทยใหม่ ๆ

ในอนาคตอาจจะมีเทคนิคใหม่ ๆ ซึ่ง AI จะต้องเชื่อมโยงข้อมูล 2 รูปแบบที่แตกต่างกันคือ ข้อมูลภาพและข้อมูลตัวอักษรเข้าด้วยกัน หรือแปลงภาพให้เป็นตัวอักษรได้

โลกเสมือนจริง Metaverse (จักรวาลนฤมิต)  

เมตาเวิร์ส (Metaverse) โดยบริษัท Meta หรือ Facebook หมายถึง สภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นพื้นที่ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นให้เหมือนจริง เหมือนเราอยู่อีกโลกหนึ่ง ใช้ชีวิตคล้ายกับอยู่บนโลกความเป็นจริง โดยการใช้ความเป็นจริงเสมือน (VR : Virtual Reality) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR : Augmented Reality) ซึ่ง AR เป็นการสร้างวัตถุ หรือ ตัวละคร 3D ให้แสดงอยู่ในสภาพแวดล้อมความจริง ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เป็นการผสานความเป็นจริงเสมือนและความเป็นจริงบนโลกเข้าด้วยกัน ปัจจุบันเทคโนโลยี VR และ AR เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายในเกือบทุกอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual)

มาดูนิยามความหมายในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่สร้างจินตนาการของคนให้บรรเจิด แม้จะมิใช่ความจริง แต่ได้จำลองภาพแห่งความเป็นจริงเอาไว้ เช่น แพลตฟอร์ม Metaverse (โลกจริง โลกเสมือนแห่งอนาคต) ในปี 2021 ที่มาพร้อมกับ “ปีทองของคริปโตเคอร์เรนซีและ DeFi” มีการผสมผสานกันระหว่าง 3 เทคโนโลยี คือ VR, AR และ MR ทำให้โลกเสมือนจริง กลายเป็นโลกสมจริง (Merged Reality)

Mixed Reality คือการผสานระหว่าง Augmented Reality และ Virtual Reality เข้าด้วยกัน ทำให้วัตถุในโลกเสมือนจริงซ้อนทับกับวัตถุโลกความจริง โดยที่เราสามารถมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเหล่านั้นได้ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ตัวแว่น “Microsoft Hololen” ซึ่งเป็นแว่นฉายภาพโฮโลแกรมที่จะแสดงภาพ 3 มิติผ่านตัวแว่น และให้ผู้ใช้สามารถเอามือไปจับต้องและเปลี่ยนบริบทของตัววัตถุได้ตามต้องการ ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกให้คิดถึงภาพยนตร์ไซไฟต่างๆ หรือฉากในหนัง IRON MAN

ในขณะที่ Mixed Reality (MR) ถือว่าล้ำแล้ว แต่ Extended Reality (XR) อาจจะก้าวไปอีกขั้น ในการขยายโลกของ VR, AR และ MR ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ การนำเอาสภาพแวดล้อมจากโลกเสมือนและโลกความจริงมารวมให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และเครื่องจักรในโลกแห่งความจริง ถ้ายังไม่เห็นภาพ ให้คุณนึกถึงโลกแห่งหนังไซไฟที่วัตถุทางกายภาพ ปะปนอยู่กับวัตถุแห่งโลกเสมือน เช่น มีป้ายไฟเป็นโฮโลแกรมอยู่ตามถนนหนทางเป็นป้ายบอกทาง หรือ ร้านค้า และเมื่อคุณเดินเข้าร้านเสื้อผ้าก็มีพนักงานต้อนรับเป็น AI แสดงตัวตนออกมาผ่านภาพโฮโลแกรมพร้อมกับกล่าวต้อนรับคุณ เป็นต้น สรุปว่า Virtual Reality (VR) คือการนำผู้คนเข้าสู่โลกเสมือน Augmented Reality (AR) คือการนำวัตถุหรือเนื้อหาจากโลกเสมือนมาโผล่บนโลกความจริง Mixed Reality (MR) เป็นการนำวัตถุจากโลกเสมือนมาผสานกับโลกความจริงโดยที่ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมความจริงได้ ส่วน Extended Reality (XR) คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผสานโลก

ร่ายความหลักการทฤษฎีมายาว จุดประสงค์เพื่อให้เห็นภาพเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีแต่จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ นำมาเปรียบแนวความคิด “ใจของคน” (มนุษย์) ที่ไม่มีทางว่าความคิดของคนแต่ละคนจะเหมือนกันได้ เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ภูมิหลัง การรับรู้ การอบรม การปลูกฝัง สั่งสมทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน จึงเกิดปัญหาความแตกต่างกันในความคิด ในทัศนะได้ ปรากฏการณ์ต่อสู้กันเรื่องแนวทาง แนวความคิด จึงพบเห็นได้ทั่วไป ไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ แนวโน้มก็คือ ทุกคนต้องยอมลดทิฐิอัตตาที่แต่ละคนมี ให้ยอมรับซึ่งกันและกันได้ อยู่ร่วมสังคมกันได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ เช่น การใช้อนุญาโตตุลาการ การไกล่เกลี่ยประนีประนอม การปรองดอง การสมานฉันท์ การอภัยโทษ การนิรโทษกรรม การยกโทษขอโทษ การล้างมลทิน ฯลฯ เป็นต้น เหมือนการใช้เครื่องจักร(ระบบคอมพิวเตอร์) มาช่วยมนุษย์ทำงาน แต่เครื่องจักร ทำงานตามกรอบที่ไม่มีอคติ ตามปรากฏการณ์ซ้ำๆ ที่ประมวลผลได้ แต่ใจมนุษย์ มีปัจจัยอื่นมาโน้มนำได้ แม้เครื่องจักรจะทำงานได้ตามที่มนุษย์สร้างและสั่ง ก็หวังว่าเครื่องจักรคงไม่หักหลังมนุษย์ ทำนอกสั่ง เพราะเครื่องจักรไปตรวจพบข้อมูลใหม่ตามที่มนุษย์ได้สั่งโปรแกรมไว้ ทำให้เห็นว่าโลกเสมือนจริงของเครื่องจักรที่สร้างขึ้น มันช่างละม้ายเสมือนใจคนที่ต้องปรับเข้ามาให้เหมือนๆ กัน มีความแตกต่างที่ลดน้อยลง หรือมีความแตกต่างที่ยอบรับกันได้บ้าง ชีวิตคนในยุคต่อไปมันช่างใกล้เคียงกับเครื่องจักรมากขึ้น หรือว่า ชีวิตคนในยุคต่อไปมันจะตรงกันข้ามกับเครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้นกันแน่ ลองพิจารณา