ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล              

สงครามที่เอาชนะยากที่สุดคือ “สงครามความคิด” ซึ่งก็คือความคิดของผู้คนรอบข้าง

สิ่งที่เป็นปกติในตัวลูกทั้งสองคนของวันทนีย์ตามสภาพที่ก่อกำเนิดมาก็คือสิ่งที่ “ไม่เป็นปกติ” ของผู้คนรอบข้าง ทั้งที่ทางการแพทย์ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคหรือความพิกลพิการ กระนั้นผู้คนทั้งหลายก็มีความเชื่อตาม ๆ กันไปว่าเป็นโรค ทั้งยังมองว่าคนที่เป็นโรคผิดเพศกับปัญญาอ่อนนั้นเป็นเชื้อร้ายที่น่ารังเกียจ ควรที่จะหลีกหนีอยู่ให้ไกล แม้ลูกตัวเองก็ไม่อยากให้ไปสุงสิงเพราะกลัวว่าจะผิดเพศและปัญญาอ่อนตามไปด้วย

น้องเอื้องนั้นไม่มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียนมากนักเพราะเป็นโรงเรียนหญิงล้วน แต่พอมาเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มมีปัญหาบ้าง แต่เป็นปัญหาของความอิจฉาตาร้อนในความเก่งและความป๊อปปูล่าร์ของน้องเอื้อง มากกว่าที่จะมองถึงเพศสภาพที่ไม่เหมือนนิสิตหญิงโดยทั่วไป อีกทั้งบรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็มีเสรีภาพในการแสดงออกค่อนข้างมาก รวมถึงที่มีการยอมรับของการอยู่ร่วมกันของคนหลาย ๆ เพศ ทั้งยังทำให้กลุ่มนิสิตที่มีความหลากหลายทางเพศเหล่านั้นดูน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความที่มีความหลากหลายมาผสมผสานอยู่ร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดการแสดงออกที่หลากหลาย มีความโดดเด่น จนนิสิตจากกลุ่มอื่น ๆ ก็อยากมาเข้าร่วม กลายเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญของคณะไปจนถึงของมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อนิสิตเก่ง ๆ เหล่านี้ได้ไปร่วมกันแสดงออกถึงความสามารถที่หลากหลายในกลุ่ม ก็ทำให้ชื่อเสียงของคณะและของมหาวิทยาลัยเป็นที่กล่าวขาน

แต่ที่เป็นปัญหามากก็คือ “ชาวบ้าน” ที่ค่อนแคะนินทาน้องเอื้องและวันทนีย์อย่างเสีย ๆ หาย ๆ แล้วก็ลุกลามไปถึงน้องนายที่ก็ถูกมองว่า “ผิดปกติ” นั้นด้วย มีการพูดคุยกันในหมู่ชาวบ้านว่า บ้านของวันทนีย์ “ถูกสาป” พ่อและก๋งของวันทนีย์หากินกับการขูดเลือดขูดเนื้อขายสินค้าราคาแพง ซื้อมาถูก ๆ แต่ขายแพง ๆ ห้องเช่าตึกแถวให้เช่าก็คิดค่าเช่าแพง ๆ รวมถึงนาและสวนที่ให้เช่าก็คิดค่าเช่าแพง ๆ เหมือนกัน อีกทั้งวันทนีย์เป็น “คนกินผัว” สามีคนแรกพ่อของน้องเอื้องนั้นก็ตายตอนยังหนุ่ม สามีคนที่สองที่อายุมากก็มาตายหลังจากน้องนายเกิดมาได้ไม่กี่ปี บาปเคราะห์เหล่านี้จึงอยู่ในครอบครัวของวันทนีย์ ส่งผลต่อน้องเอื้องให้เป็นคนผิดเพศ และทำให้น้องนายกลายเป็น “เอ๋อ” มีสติปัญญาบกพร่องแปลกประหลาดไป

ถ้าจะว่าไปแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านคิดเห็นดังกล่าวไม่มีอะไรที่เป็นจริงเลย ปัญหาของการนินทาว่าร้ายมีจุดเริ่มต้นจากคู่แข่งทางธุรกิจที่หาเรื่องโจมตีมาก่อนนั้นแล้ว ก๋งและพ่อของวันทนีย์เป็นคนใจบุญยิ่งนัก เป็นคนริเริ่มกิจการมูลนิธิการกุศล สงเคราะห์คนยากคนจน ตั้งศาลเจ้าและโรงเจ ช่วยเก็บและฝังศพไม่มีญาติ รวมถึงร่วมสร้างโบสถ์ พระวิหาร และกุฏิพระ อย่างวัดป่าบนเขานั้นก็ที่หนึ่ง และอีกหลาย ๆ ทั้งที่พิษณุโลกและนครสวรรค์ รวมถึงตึกแถวและห้องเช่าก็ราคาเท่า ๆ กันกับของคนอื่น เพราะพ่อเคยบอกว่าการค้าขายแบบตัดราคาคนอื่นนั้นเป็นความชั่วอย่างมาก เพราะหัวใจของการค้าขายคือ “ความยุติธรรม” ต้องมีความเป็นธรรมทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ธุรกิจนั้นถึงจะอยู่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นพ่อยังอนุญาตให้คนที่ถูกไล่ที่จากเรือนแพที่เคยปลูกลงไปในแม่น้ำน่าน ให้มาปลูกในเพิงพักอยู่ในสวนหลังบ้านนับสิบครอบครัว แม้ว่าหลายครอบครัวจะสามารถขยับขยายออกไปมีที่อยู่ที่อื่นของตนเองบ้างแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไปไหนไม่ได้ พ่อก็ให้อยู่มาจนถึงที่วันทนีย์ได้มาดูแลต่อ ซึ่งคนเหล่านี้จะรู้ดีว่าครอบครัวของวันทนีย์นั้นเป็น “คนดี” เพียงไร

วันทนีย์ได้แต่อดทน แม้ว่าบ่อยครั้งเวลาที่วันทนีย์ไปไหนมาไหนก็มีชาวบ้านที่คงไปเชื่อคู่แข่งของวันทนีย์ พูดดัง ๆ แบบตั้งใจให้วันทนีย์และคนรอบข้างได้ยิน ด้วยถ้อยคำที่อุบาทว์หยาบคายต่าง ๆ จนช่วงหนึ่งวันทนีย์ไม่อยากออกไปไหนมาไหน แต่ด้วยความสงสารลูกก็ต้องยอมทน รวมทั้งจะต้องทำกิจกรรมการกุศลที่ก๋งและพ่อได้ทำมาตลอดหลายสิบปีนั้นต่อไปด้วย จึงจำเป็นต้องออกไปในที่สาธารณะอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นบางทีเธอก็ต้องทำเหมือนหูทวนลม ใครจะพูดอะไรมาก็ไม่ต้องไปสนใจ  แต่บางทีก็ต้องเก็บตัวและให้แม่ไปแทน ซึ่งแม่จะไม่ยอมทนและมักจะตอบโต้กับชาวบ้านพวกนั้นไปแรง ๆ เช่นกัน

วันทนีย์ลองคิดบวก และพยายามที่จะหาทางทำให้ชาวบ้านกลุ่มที่ “ว่าร้าย” วันทนีย์และครอบครัวอยู่เสมอนั้นปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบากมาก จนถึงในปีที่มีน้ำเหนือหลาก น้ำในแม่น้ำน่านที่ผ่ากลางเมืองพิษณุโลกก็ท่วมล้น ท่วมขึ้นมาถึงลานหน้าวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช แน่นอนว่าตลาดและชุมชนรอบด้านนั้นก็ท่วมล้นไปทั่ว น้ำนั้นอาบท่วมไปถึงอำเภอรอบนอก โดยเฉพาะที่อำเภอบางระกำที่อยู่ติดอำเภอเมือง แต่ไหนแต่ไรก็มีชื่อว่าแล้งซ้ำซากเป็นประจำ แต่ปีนั้นก็เจอน้ำขังอยู่กว่า 10 วัน ผู้คนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งนั้นจึงมีนับหมื่นคน ซึ่งทางราชการก็เข้ามาช่วย แต่ก็เป็นการช่วยแบบ “ผักชี” และไม่ทั่วถึง ทั้งยังมีเรื่องของการ “อม” สิ่งของบริจาค ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้กับผู้เดือดร้อนมากขึ้น

วันทนีย์ทราบจากคนงานคนสวนว่าบ้านของพวกเขาเดือดร้อน วันทนีย์ก็ใช้เงินทุนส่วนตัวช่วยพวกนี้ก่อน พอเรื่องนี้ทราบถึงบรรดาเถ้าแก่ที่เคยค้าขายมากับพ่อ ทั้งในจังหวัดใกล้เคียงและที่กรุงเทพฯ และได้เห็นว่าวันทนีย์ช่วยเหลือผู้คนอย่างแข็งขัน ร่วมกับมูลนิธิที่พ่อของวันทนีย์ร่วมก่อตั้งในจังหวัดพิษณุโลก ก็ทำการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างทุ่มเท จึงมีการระดมเงินและข้าวของการบริจาคผ่านบรรดาเถ้าแก่เหล่านั้นและมูลนิธิต่าง ๆ ของคนจีนในหลาย ๆ จังหวัด ที่สุดก็สามารถบรรเทาความทุกข์ของผู้คนได้จนเป็นที่เลื่องลือ แต่ทั้งหมดนั้นวันทนีย์ไม่ได้ออกหน้าออกตา หรือแสดงตัวว่าเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้เรื่องนี้และเล่าขานกันขยายวงออกไป และวันทนีย์ก็ถูกมองในแง่ดีมากขึ้น

วันทนีย์พอจะเริ่มมีคนมองว่าเป็น “แม่พระ” ขึ้นบ้าง ก็ยังมี “มารผจญ” อยู่ต่อมา เหมือนกับว่ายิ่งเด่นดังก็ยิ่งน่าหมั่นไส้กระนั้น คือพวกชาวบ้านที่เป็นปากหอยปากปูก็ยังมีอยู่ ด้วยแรงยุงยงส่งเสริมของคู่แข่งทางธุรกิจ หาว่าเธอค้าขายยาเสพติดบ้าง ของผิดกฎหมายบ้าง แต่ก็เป็นเพียงข้อกล่าวหา จนถึงขั้นมีการกล่าวหาว่าในไร่ในสวนของวันทนีย์นั้นเป็นที่ซ่องสุมโจรผู้ร้าย หรือ “เลี้ยงโจร” แต่พอเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบก็เจอแต่คนที่มาขออยู่อาศัยกับวันทนีย์ หรือคนที่วันทนีย์ช่วยเหลือไว้ทั้งครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงเมื่อคราวน้ำท่วมนั้นอีกหลายครอบครัว ที่สุดเสียงนินทาว่าร้ายเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะซาไป และกลายเป็นคู่แข่งของวันทนีย์นั่นเองที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาทุจริตคดโกงบางอย่าง คือพอไปเล่นการเมืองเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ก็กระทำการคอร์รัปชั่นในสมัยแรกที่ทำงานให้แก่ท้องถิ่นนั่นเอง

มีผู้ใหญ่จากพรรคการเมืองบางพรรคมาชวนให้วันทนีย์เล่นการเมืองระดับชาติ ซึ่งเขาเคยชวนพ่อของวันทนีย์มาตั้งแต่ตอนที่เพิ่งทำมูลนิธิได้ใหม่ ๆ แต่พ่อก็ไม่ได้ตกลง เช่นเดียวกันกับวันทนีย์ที่ตอบผู้ใหญ่ท่านนั้นไปว่า “พ่อสอนไว้ ทำดีทำอะไรที่ไหนก็ได้ ขอทำดีให้กับคนพิษณุโลกอย่างที่พ่อทำมานี่แหละ”

ทุกวันนี้วันทนีย์ก็มีความสุขตามอัตภาพ น้องเอื้องได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ของต่างชาติ และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กับ “เพื่อนชีวิต” ที่เป็นผู้หญิงด้วยกันและอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวทั่วไป ส่วนน้องนายก็อยู่กับวันทนีย์ และชอบไปวัดอยู่กับหลวงพ่อที่วันทนีย์ให้ช่วยสอนธรรมะง่าย ๆ ให้น้องนาย และน้องนายก็เป็นเด็กวัดให้หลวงพ่ออยู่เสมอแม้จะเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่นั่นแล้ว

วีรสตรีอาจจะไม่ใช่คนที่สร้างวีรกรรมกล้าหาญ แต่อาจจะเป็นคนที่มีหัวใจกล้าแกร่ง และต่อสู้อย่างยืนหยัดกับสังคมรอบ ๆ ตัวเรานี้เอง