ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 24 ปี มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ จึงได้มีการ เปิดตัวโครงการ “Student Outreach Program” หรือ “โครงการเพื่อเยาวชน”  มอบโอกาสเยาวชนที่พำนักในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและยกระดับการศึกษาด้านศิลปะการแสดงและดนตรีใน ประเทศไทย ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาศักยภาพก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกได้อย่างแท้จริง

หลายต่อหลายครั้งคนจำนวนไม่น้อยอาจจะรู้สึกไม่คุ้นชินเมื่อพูดถึงไปการชมคอนเสิร์ตคลาสสิกจากตะวันตก เช่น บัลเลต์ โอเปร่า วงออร์เคสตรา เป็นต้น  หากมองข้ามค่านิยมที่คนส่วนใหญ่ตั้งค่าให้การแสดงเหล่านี้ จะเห็นว่าศิลปะการแสดงและดนตรีคลาสสิกเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว อาทิ ดนตรีประกอบภาพยนต์ รวมถึงการ์ตูนและโฆษณา เป็นต้น  และเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัยมากมาย คณะกรรมการจัดงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ เล็งเห็นถึงพลังแห่งการขับเคลื่อนดังกล่าว จึงได้เชิญชวนกลุ่มศิลปินที่มาจัดแสดงโชว์หลักในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 24 ให้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์สร้างบันดาลใจในฐานะกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มเยาวชนที่มีใจรัก ในเสียงดนตรีและศิลปะการแสดง ผ่านการมอบโอกาสและสร้างการมีส่วนร่วมในศิลปะแขนงอื่น ๆ จากหลากหลายวัฒนธรรมและประเพณีกับเยาวชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ

การจัดมาสเตอร์คลาสจากกลุ่มศิลปินระดับโลก อาทิ  นักร้องคลาสสิกแคทเธอรีน เจนกินส์  คณะเต้นโทเดส วงบอยแบนด์ เท็น เทเนอร์ส  คณะเคลทิก เลเจนส์ คณะบัลเลต์เปรลโจกาจ รวมถึงคณะเต้นเยาวชน Jukebox เป็นต้น เพื่อแบ่งปันความรู้ ถ่ายทอดทักษะพื้นฐาน เทคนิคสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนับเป็นไฮไลท์สำคัญของโครงการเพื่อเยาวชน (Student Outreach Program) ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้อย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย นับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าและหาได้ยากยิ่ง

โดยในวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ  ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นตัวแทนนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกล่าวเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการ และให้โอวาทแก่เยาวชน รวมถึงครูและผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการ

เรซิน่า อูเบอรอย บาจาจ คณะกรรมการผู้จัดงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ในฐานะผู้จัดงาน พวกเรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจต้องการเสริมสร้างการศึกษาด้านศิลปะการแสดงและดนตรีในประเทศไทย เพื่อให้เยาวชนไทยเป็นประชากรโลกที่มีคุณภาพไม่เพียงเฉพาะด้านวิชาการ แต่รวมถึงการพัฒนาทางความคิดและจิตใจของเยาวชน ซึ่งนําไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโปรแกรม “Student Outreach Program”  ในปีนี้ที่จัดขึ้นมา ได้เชิญชวนกลุ่มศิลปินที่มาจัดแสดงโชว์หลักในมหกรรมฯ ครั้งที่ 24 ให้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แก่เหล่าเยาวชนเป็นพิเศษ มีการจัดมาสเตอร์คลาสแยกขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนกับศิลปินและคณะการแสดงระดับโลกอย่างใกล้ชิด

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากโรงเรียนในสังกัดที่สนใจได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ทั้งนี้ ในฐานะผู้จัดงาน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน สามารถนำกลับไปต่อยอดความคิดและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี”

 

ดร.กิตตินันท์ ชินสำราญ หรือ ครูกิต เดอะว๊อยซ์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการร้องเพลง สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดส่งนิสิตเข้าร่วมมาสเตอร์คลาสในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “การจัดโครงการเพื่อเยาวชน หรือ Student Outreach Program ขึ้นมานั้นถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากสำหรับเยาวชน นิสิต นักศึกษา ที่จะได้พบกับศิลปินระดับโลก ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ให้กับเด็ก ๆ อย่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ภาษา การจัดบุคลิกภาพระหว่างการร้องเพลง เป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ แค่วันนี้ได้มาร่วมรับฟัง ดูนิสิตที่ได้ร่วมมาสเตอร์คลาส ก็ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ เช่นกัน ต้องขอบคุณผู้จัดงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยอย่างไม่มีข้อจำกัด” 

เด็กหญิงกาลีนา รอดีโอนอวา หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันกำลังเรียนและฝึกฝนการเต้นบัลเลต์อยู่ค่ะ  การได้เข้าร่วมโครงการเพื่อเยาวชน และร่วมมาสเตอร์คลาสกับคณะการแสดงระดับโลกที่มาจากหลายประเทศนั้น ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้เห็นการแสดงในรูปแบบที่ไม่เราเองไม่เคยเห็นมาก่อน ได้พัฒนาทักษะการเต้นมากขึ้น โดยได้คำแนะนำจากพี่ ๆ ศิลปินที่มาร่วมงานในปีนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปกับคณะโทเดส และ คณะ Jukebox ซึ่งระหว่างการเวิร์กชอปนั้น ทางคณะการแสดงฯ ผู้ฝึกสอนได้สอนท่าเต้นต่าง ๆ ที่เราสามารถฝึกฝนได้ด้วย และได้ร่วมแสดงบนเวทีจริงพร้อมกับพวกเขา ทำให้เรามีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น”

นอกจากนี้การจัดแสดงชุดพิเศษสำหรับเยาวชนให้เข้าชมได้ฟรีนับเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเพื่อเยาวชน (Student Outreach Program)  ไม่ว่าจะเป็น    การแสดงชุดแอทเท็นชั่น (Attention) จากคณะโทเดส ประเทศรัสเซีย ผสมผสานกายกรรม การเต้นเบรกแดนซ์ บัลเลต์ และโอเปร่าคลาสสิก การแสดงจากคณะ Jukebox คณะเต้นเยาวชนแนวร่วมสมัยจากประเทศฝรั่งเศส  ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย น้องๆเยาวชนโชว์ความสามารถเกินอายุผ่านท่าเต้นที่ถูกออกแบบมาอย่างประณีต  โดยความน่าสนใจของโชว์นี้คือคณะนักเต้นจะไม่มีทางทราบเลยว่าบทเพลงที่จะต้องแสดงจะเป็นบทเพลงอะไรจากกว่า 100 รายการเพลงนั้น ได้ จนกว่าจะได้รับผลโหวตในวินาทีสุดท้าย  เปรียบเป็นตู้ Jukebox ที่มีชีวิต โชว์ทั้ง 2 ชุดนี้นับเป็นการเปิดโลก เปิดมุมมองใหม่ให้กับเยาวชนต่อการแสดงศิลปะดนตรีกลุ่มคลาสสิกจากตะวันตกได้อย่างดี

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติกรุงเทพฯ จัดแสดงขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 นับเป็นเทศกาลที่เปี่ยมไปด้วยสุนทรียศาสตร์แห่งความบันเทิงและศิลปวัฒนธรรมสำคัญของประเทศไทย  รวบรวมการแสดงโชว์ชิ้นสำคัญจากทั่วโลกสลับผลัดเปลี่ยนมาจัดแสดงให้ประชาชนชาวไทยได้เพลิดเพลินกันมาอย่างยาวนาน