จากกรณีสภากรุงเทพมหานคร มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอนญัตติ เรื่อง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 ที่สภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา ซึ่ง ส.ก.ได้ร่วมอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยและกังวล โดยอ้างว่าผิดกฎหมาย ไม่อยู่ในขอบข่ายอำนาจของ กทม. ที่จะกำหนดราคา

นายไสว โชติกะสุภา ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง สภากทม.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการรถไฟฟ้าและการกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้อย่างน่าสนใจว่า การจัดเก็บค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วง แบริ่ง – สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ในบางช่วงเป็นการดำเนินการและตั้งสถานีนอกพื้นที่ของกทม. ควรใช้งบประมาณส่วนกลาง หรือรัฐบาล เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่สร้างรายได้ให้กับรัฐทั้งทางตรงคือการเก็บค่าโดยสาร และทางอ้อมคือทำให้ที่ดินตลอดแนวรถไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีการซื้อขาย รัฐจะได้รับค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีที่ดิน ซึ่งไม่ได้เป็นรายได้ของกทม.หรือท้องถิ่นแต่อย่างใด

“การกำหนดค่าโดยสารในปัจจุบันไม่สามารถขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครได้ เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.มาก่อน ดังนั้นจึงไม่ควรให้ความเห็นชอบในเรื่องที่ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการไปแล้ว เนื่องจากจะทำให้มีผลผูกพันต่อการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อดูแลรถไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้รับการร้องเรียนจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่ต้องนำภาษีของคนกรุงเทพฯ ไปบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร” นายไสว กล่าว

นอกจากนี้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสภากทม.ประกอบกับ ส.ก.ชุดแต่งตั้งไม่เคยพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่อย่างใด เพียงแต่มีมติรับทราบและให้ส่งเรื่องคืนฝ่ายบริหารกทม.เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง สภากทม.เห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ได้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยคณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์จากค่าโดยสาร และหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 และ 2.เจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์การปรับเพดานค่าโดยสาร โครงสร้างอัตราค่าโดยสารเส้นทางหลัก โครงสร้างอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยาย และ 3.แก้ไขสัมปทานกับผู้รับสัมปทาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่กทม.เสนอ รวมทั้งอัยการสูงสุดได้พิจารณาตรวจร่างสัญญาข้างต้นเสร็จแล้ว

นายไสว ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในคราวประชุมสภากทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 4) เมื่อวันพุธที่ 8 ก.พ.2560 เรื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิด – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ที่ประชุมมีมติรับทราบและให้ส่งเรื่องดังกล่าวพร้อมข้อสังเกตคืนผู้ว่าฯกทม.เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ดังนั้น แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงไม่อยู่ในอำนาจของสภากทม.

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ที่นำเรื่องเข้าสภากทม.ก็เพราะต้องการความคิดเห็นจากสภากทม.ถึงแนวทางการกำหนดราคาและส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ได้ต้องการมติเห็นชอบใดๆ และอยู่ในความสนใจของประชาชน อีกทั้งตนจะต้องตอบที่กระทรวงมหาดไทยถาม ถึงแนวทางดำเนินการ 1.ควรมีการปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุน เพราะการคำนวณค่าโดยสารจะมีความรอบคอบมากขึ้น 2.ค่าโครงสร้างพื้นฐาน อยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบเพื่อลดภาระของ กทม.เพราะโดยปกติ ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าทุกสายที่ผ่านมารัฐบาลช่วยรับผิดชอบเงินส่วนนี้มาตลอด แต่หากรัฐบาลไม่ช่วยตรงส่วนนี้ คนที่รับภาระคือประชาชน เพราะจะทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะ กทม.ต้องนำเงินไปจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐาน

“ย้ำว่าเรื่องรถไฟฟ้าตนไม่ได้เป็นคนริเริ่มทำ จะสรุปง่ายๆ ไม่ได้เพราะมีเรื่องราวความเป็นมาและความคิดเห็นมากมายจนถึงวันนี้ จากนี้ไปจะพิจารณาตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องนี้ และไม่ว่าจะมีดำเนินการหาทางออกอย่างไรต่อจากนี้ ตนเชื่อว่า สุดท้ายเรื่องทั้งหมดจะวนกลับมาที่สภากทม.เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ต้องมาจากเงินงบประมาณของ กทม.ไม่มีทางหนีพ้น” นายชัชชาติ กล่าว