วันที่ 26 ต.ค.65 ที่สภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมสภากทม.ว่า สืบเนื่องจากที่สภากทม.มีมติให้ถอนญัตติ เรื่อง รถไฟฟ้าสายสีเขียวออกจากวาระการประชุม โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ตนถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่สภากทม.ได้รับทราบและมีการขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ตนเคยบอกแล้วว่าเรื่องนี้มีรายละเอียดยิบย่อยซึ่งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน แม้อำนาจผู้ว่าราชฯกทม.จะสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 15 บาทได้ แต่ที่สุดแล้วเงินส่วนต่างที่ต้องสมทบเพิ่มเติมจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากทม.ว่าสามารถช่วยจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน โดยตนยืนยันราคาเริ่มต้นที่ 15 บาทเพราะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะปัจจุบันแม้จะเปิดให้ประชาชนใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายยังมีผู้ใช้บริการไม่มากเท่าที่ควร หากเริ่มเก็บค่าบริการเริ่มต้นสูงกว่า 15 บาท เกรงว่าผู้ใช้บริการอาจน้อยลงกว่าเดิม

ทั้งนี้จากการอภิปรายในที่ประชุมสมาชิกสภากทม.หลายท่านเห็นว่า กทม.ไม่มีอำนาจในการเก็บค่าโดยสาร แต่เป็นอำนาจคณะกรรมการที่ คสช.ตั้งขึ้น จึงต้องรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ นำมาพิจารณาหาทางออกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนยืนยันว่าจุดประสงค์ในการนำเรื่องเข้าสภากทม.ในครั้งนี้ต้องการความคิดเห็น ยังไม่ถึงขั้นต้องการมติใดๆ เพราะคิดว่าสภากทม.มีคณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง ซึ่งศึกษาเรื่องนี้อยู่ และได้ชี้แจงว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน รวมถึงหลายท่านมีความกังวลที่หลากหลายแตกต่างกันไป เช่น เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสภากทม.แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะได้มีการคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ส่วนเรื่องการเริ่มเก็บค่าโดยสาร 15 บาท เป็นเพียงความเห็นที่ตนมองในมุมประชาชนเพื่อเสนอต่อสภา กทม.ว่าราคาดังกล่าวจะทำให้มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายมากน้อยเท่าไร ไม่ได้ขออนุมัติว่าต้องเก็บ 15 บาท แต่เป็นเพียงการขอความเห็นเท่านั้น

ส่วนเรื่องการตอบกระทรวงมหาดไทยตามที่ถามมา ฝ่ายบริหาร กทม.เห็นว่า ควรมีการปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุน เพราะการคำนวณค่าโดยสารจะมีความรอบคอบมากขึ้น อีกเรื่องคือค่าโครงสร้างพื้นฐาน อยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบเพื่อลดภาระของ กทม.เพราะโดยปกติแล้วค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าทุกสายที่ผ่านมารัฐบาลช่วยรับผิดชอบเงินส่วนนี้มาตลอด แต่หากรัฐบาลไม่ช่วยตรงส่วนนี้ คนที่รับภาระคือประชาชน เพราะจะทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะ กทม.ต้องนำเงินไปจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐาน แต่อย่าลืมว่า การใช้รถไฟฟ้ามีประโยชน์ในทางอ้อม คือ ช่วยลดมลภาวะ ลดการจราจรติดขัด และรัฐบาลได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีในระยะยาว ทั้งนี้ ขอย้ำว่าเรื่องรถไฟฟ้าตนไม่ได้เป็นคนริเริ่มทำ จะสรุปง่ายๆ ไม่ได้เพราะมีเรื่องราวความเป็นมาและความคิดเห็นมากมายจนถึงวันนี้ จากนี้ไปกำลังพิจารณาตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะดำเนินการหาทางออกอย่างไรต่อจากนี้ ตนเชื่อว่า สุดท้ายเรื่องทั้งหมดจะวนกลับมาที่สภากรุงเทพมหานคร เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ต้องมาจากเงินงบประมาณของ กทม.ไม่มีทางหนีพ้น

“ในวันนี้ สิ่งที่อยากบอกคือว่า ค่าใช้จ่าย 6,000 ล้านบาท คุณเก็บค่าโดยสารได้ 500 ล้านบาท คุณต้องมีเงินไปจ่ายอีก 5,500 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนต่างที่เหลือต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาฯในการจัดงบประมาณ นี่คือสิ่งที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกัน” นายชัชชาติ กล่าว