วันที่ 25 ต.ค.65 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด 19 ในเด็กเล็ก พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วยโควิดเป็นเด็กอายุ 0-4 ปี จำนวน 220,593 ราย มีอาการปอดบวมรุนแรง 1,342 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 365 ราย เสียชีวิต 69 ราย อัตราป่วยตาย 0.03% ซึ่งพบว่ามีอัตราป่วยมากกว่าเด็กโต 1.5 เท่า และป่วยเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต 3 เท่า ประกอบกับพบเด็กที่มีภาวะ Mis C หรือ Long Covid ที่มีอาการรุนแรง ในผู้ป่วยเด็กเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น จึงควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็ก แนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 และสามารถกลับสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการและทักษะทางสังคมต่อไป 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางวัคซีน Pfizer ฝาสีแดง สำหรับฉีดให้กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน- 4 ปี โดยคำแนะนำได้พิจารณาจากคำแนะนำของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ร่วมกับคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ คำแนะนำภายใต้การขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็ก

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้จัดการประชุมอบรมแนวทางการฉีดวัคซีน Pfizer ฝาสีแดงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และได้จัดสรรวัคซีนลงทุกพื้นที่แล้ว โดยให้จังหวัดเป็นผู้กำหนดจำนวนวัคซีนที่ต้องการขอสนับสนุน ผู้ปกครองสามารถติดต่อขอรับบริการที่รพ.สต. หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน วัคซีน Pfizer ฝาสีแดงสามารถรับพร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ในวันเดียวกันได้หรือห่างกันเท่าใดก็ได้ โดยเริ่มรณรงค์ฉีดในคลินิกเด็กสุขภาพดี (well baby clinic) พร้อมกันกับวัคซีนพื้นฐานตัวอื่น และ ขอความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดพื้นที่บริการฉีดเป็นการเฉพาะสำหรับเด็กวัยนี้โดยเร็ว เพื่อให้เด็กจะได้มีภูมิคุ้มกันขึ้นพร้อมกันก่อนจะเข้าฤดูหนาวที่อาจจะพบการระบาดครั้งใหม่ ทั้งนี้การรับวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการไปโรงเรียน

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กำหนดการฉีดวัคซีน Pfizerฝาสีแดงนั้น ให้ฉีดโดสละ 0.2 ซีซี (3 ไมโครกรัม) จำนวน 3 เข็ม (สัปดาห์ที่ 0, 4, 12) ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรง ที่สำคัญจะลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น หรือเด็กๆอื่น จากการศึกษาความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง พบว่า มีความปลอดภัย อาการข้างเคียงไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย โอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อย เนื่องจากขนาดโดสต่ำกว่าวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง 10 เท่า แนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ตามข้อแนะนำของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำโรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า ทั้งนี้ วัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้มาก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422