เมื่อวันที่ 23 ต.ค.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวข้อ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย มียาบ้ากี่เม็ด จัดเป็นผู้เสพ ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ” ระบุว่า สัปดาห์ที่แล้วผมประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีวาระสำคัญวาระหนึ่ง ที่มีการพิจารณากัน คือ การกำหนดจำนวนยาบ้า ที่จะกำหนดให้ผู้ครอบครอง เป็น ผู้เสพ หรือ ผู้ค้า จำนวนที่กำหนดในปัจจุบัน ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2545 กำหนดไว้ 15 เม็ด  คือ ผู้ใดครอบครองยาบ้า ไม่เกิน 15 เม็ด ให้จัดเป็นผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ค้า ให้ส่งตัวไปบำบัดรักษา ตามนิยาม ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ไม่ต้องส่งไปเรือนจำ ในฐานะผู้ค้ายาเสพติด ในการประชุม มีข้อเสนอใหม่ ให้กำหนดว่า ผู้ครอบครองยาบ้า ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ด ให้ถือเป็นผู้เสพ เป็นผู้ป่วย ให้กระทรวงสาธารณสุข รับตัวไปรักษา บำบัดฟื้นฟู  ไม่ต้องไปรับโทษในเรือนจำ เหตุผลที่มีการถกเถียงกันมาก คือ มีความกังวลว่า ถ้ากำหนดจำนวนน้อยกว่า 5 เม็ด จะไม่มีคุกไว้ขังผู้กระทำความผิด

น่าประหลาดใจ ที่มีความห่วงกังวล คุกจะไม่พอขังผู้กระทำผิด แต่ไม่มีใครห่วงโรงพยาบาล จะมีสถานที่พอรองรับผู้เสพ หรือไม่ ไม่มีคำถามว่าจะมีหมอ มีพยาบาลมาดูแลผู้เสพยา หรือไม่ ถ้ารัฐยังอนุญาตให้ผู้เสพยา บ้า ครอบครองได้ ครั้งละ 5 เม็ด กฎหมาย กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศจำนวนยาบ้า ที่จะให้ครอบครองได้ เป็นเกณฑ์ในการแยกผู้เสพ กับ ผู้ค้า

ผมเห็นว่า การเสพยาบ้า ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตนของผู้เสพ  แต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบทางสังคม เพราะผู้เสพก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น และสังคม ไม่ใช่ผลกระทบต่อตนเองเท่านั้น สังคม หรือ ประชาชน น่าจะเป็นผู้กำหนด จำนวนยาบ้า ที่จะให้ครอบครอง ได้ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดแยก ผู้เสพ กับ ผู้ค้า เพื่อที่ผมจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อไป เราต้องฟังเสียงประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ยาบ้า เข้าใกล้ตัวทุกคนในครอบครัว”