เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ต.ค. 2565 ที่พระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเสนอสูตร "หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม" ว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นของส.ส.ท่านหนึ่ง แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้ตั้งคำถามไปว่าไปถาม 3 ป.แล้วหรือยัง เรื่องนี้เป็นวิธีคิดของแต่ละพรรคการเมืองตนขอไม่แสดงความคิดเห็น แต่ถ้าในทางการเมืองทั่วไปก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอได้ แต่ต้องถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ จากลุงตู่สู่ลุงป้อมผลัดกันเป็นนายกรัฐมนตรีคนละ2 ปี ถ้าเสนอมาแล้วประชาชนเลือก แสดงว่าประชาชนต้องการ แต่ถ้ามองในมุมของพรรคเพื่อไทย ตนว่าประชาชนไม่เลือก เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาประชาชนเจอวิกฤต จากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมาถึงรัฐบาลเลือกตั้งก็ยังเป็นสภาพแบบเดิมที่ไม่สามารถออกจากวิกฤตได้ นี่เป็นสภาพที่สะท้อนจากความจริง จะส่งต่ออย่างไรถ้าประชาชนไม่เลือก ก็เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น แต่ในมุมพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ อยากให้ส่งต่ออย่างนี้ เพราะประชาชนจะได้มีข้อตัดสินใจที่ชัดเจนและหาทางออกโดยมาเลือกพรรคเพื่อไทย 

 

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะสร้างความกังวลให้กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้สร้างความกังวลเพราะแนวทางการแข่งขันทางการเมืองเราพร้อมแข่งกับทุกพรรค ไม่ว่าระบบจะเป็นอย่างไร ระบบที่ร้ายที่สุดเราก็ผ่านมาแล้ว แต่เราหวังว่า พล.อ.ประวิตร ยังมีข้อดีกว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในมุมของความเป็นการเมืองเข้าอกเข้าใจ เห็นใจประชาชน เข้าถึงสภาพปัญหา มีลักษณะความเป็นมนุษย์ เข้าถึงจิตใจความเป็นมนุษย์มากที่สุด มีความเห็นอกเห็นใจที่สูงกว่า ซึ่งไม่น่าเป็นประเด็นของพรรคเพื่อไทย

 

เมื่อถามว่า ที่ระบุว่าพล.อ.ประวิตรดีกว่า จะมีโอกาสที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนขอประกาศชัดว่า ก่อนการเลือกตั้งจะไม่ประกาศจับมือกับพรรคไหน เพราะเราเคารพประชาชน ถ้าประกาศไปก่อน จะเป็นการนำสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วยไปบังคับให้เขาไม่มีทางเลือก ส่วนหลังเลือกตั้งเมื่อผลคะแนนออกมาแล้ว หากประชาชนไว้วางใจให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์เกิน 250 เสียงขึ้นไป เราก็กำหนดทิศทางได้ว่า จะเลือกพรรคการเมืองใดเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล  โดยเงื่อนไขที่เราวางไว้พรรคนั้น1.จะต้องมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับเรา 2.เราไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์แน่นอน 3.การทำงานร่วมกันที่เอานโยบายมาสอดประสานเป็นนโยบายของรัฐบาล และการเจรจาที่จะเข้ามาทำงานในกระทรวงต่างๆ ถ้าพรรคพลังประชารัฐมีเงื่อนไขตาม 3 ข้อนี้ พรรคเพื่อไทยก็พิจารณาได้และขอยืนยันว่าพรรคไหนที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เราจะไม่ขอทำงานด้วย 

 

เมื่อถามว่า แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย จะสู้พรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่าเราถือว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยเป็นกลไกและกลยุทธที่สำคัญที่จะบอกกับประชาชนให้เขาตัดสินใจ ซึ่งอยู่ใน 3 กลไกหลักที่ให้ประชาชนตัดสินใจ 1.นโยบาย 2.แคนดิเดตนายกฯและ 3.ตัวผู้สมัครส.ส. นี่คือความเข้มแข็งของเรา เรามั่นใจว่าถ้าเราประกาศชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย จะตอบโจทย์ปัญหาที่ประชาชนต้องการในขณะนี้ทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม