กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ไอคอนคราฟต์ พื้นที่แห่งงานฝีมือสุดสร้างสรรค์ของคนไทย ชั้น 4-5 ไอคอนสยาม ร่วมสืบสานพระราชปณิธานโครงการ “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ จัดแสดงนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการทอผ้าของชุมชนและกิจกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน "นาหว้าโมเดล" ในโอกาสครบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชุมชนบ้านนาหว้า โดยได้รับเกียรติจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ไอคอนสยาม
O สืบสานพระราชปณิธาน "นาหว้าโมเดล"
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "นาหว้าโมเดล" เป็นโครงการตามแนวพระดำริ ที่มีภารกิจในการฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้าและความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ โดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นสนับสนุนแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริให้มีการฟื้นฟู "การเลี้ยงหนอนไหม" สำหรับโครงการ "นาหว้าโมเดล" เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถนำเส้นใยจากหนอนไหมไปผลิตผืนผ้าได้ทุกเมื่อตามต้องการ โดยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใย เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน ทรงตั้งพระทัยมั่นในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ ตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน พร้อมส่งเสริมผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีโครงการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วย "นาหว้าโมเดล" ในโอกาสครบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ ทรงส่งเสริมภูมิปัญญา ฟื้นฟู และพัฒนาลายผ้าจากชุมชนต้นแบบทอผ้าที่มีฝีมือในด้านการทอผ้าลายโบราณให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนการพัฒนา ชุมชนต้นแบบบ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ด้วยแรงบันดาลพระทัยที่มุ่งมั่น ทำให้ผ้าไทยมีชีวิตเป็นมรดกที่ล้ำค่า สามารถเป็นที่ประจักษ์ทุกยุคสมัย
O น้อมนำแนวพระดำริ "พระองค์หญิง"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแนวทางให้กระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นำมาพัฒนาต่อยอด ได้แก่ 1.ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ต้องยอมรับในเรื่องของ Know How องค์ความรู้ใหม่ๆของวงการแฟชั่น 2.ผ้าไทยต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นผ้าไทยที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา รวมถึงชีวิตผ้าไทยและชีวิตของคนที่สวมใส่ด้วย โดยใช้ "สีธรรมชาติ" ใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติล้วนๆ 3.การยึดถือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิถีชีวิต ด้วยการนำวัตถุดิบทั้งหลายที่จะต้องนำมาทอผ้าผลิตเป็นชิ้นผ้า โดยกลุ่มทอผ้าบ้านนาหว้าได้น้อมนำกระแสรับสั่ง ปลูกฝ้ายเลี้ยงไหม และปลูกต้นไม้ที่ให้สีต่างๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับการยืนยันจากกลุ่มทอผ้าบ้านนาหว้าว่า ผ้าสีธรรมชาติขายดีมากและได้ราคาดี
วันนี้แสดงให้เห็นว่าผ้าไทยไม่ใช่ของโบราณที่คนรุ่นใหม่แตะต้องไม่ได้ แต่ผ้าไทยกลายเป็นชิ้นงานของศิลปะที่ทันยุคทันสมัย ขณะเดียวกันผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมก็ยังได้รับการรักษาเอาไว้ด้วยการทำให้เกิดความน่าสนใจและเป็นที่นิยมมากขึ้นใน 2 วิธีการ ที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ให้ 1.การออกแบบลวดลาย เอาลายเก่ามาประยุกต์ ลดย่อขนาด เพิ่มไซส์ เพิ่มช่องว่าง กลับหัวกลับหาง เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภค 2.การออกแบบใหม่และการตัดเย็บ ซึ่งทำให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถตัดเย็ยได้หลายรูปแบบ สามารถตัดเย็บให้คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ซึ่งยิ่งเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หลักการตลาดสมัยใหม่ที่พระองค์ท่านพระราชทานผ่านคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ก่อให้เกิดมิติใหม่ของวงการผ้า ทั้งในเรื่อง Packaging เรื่องของ Brand มี Story มีเรื่องราว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า "ที่ผมบอกเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจก็คือ แนวทางทั้งหลายที่ทรงวินิจฉัยนั้น พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับ "คน" .. คนทำงาน ข้าราชการ นักวิชาการ จิตอาสาที่มีความรู้เรื่องผ้า ให้ตระหนักในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนเห็นดีเห็นงามด้วยใจ ด้วยปัญญา ด้วยสมอง ไม่ใช่บังคับ พระองค์ทรงนำชิ้นงานที่ดี ตัวอย่างที่สำเร็จ มาเป็นตัวอย่าง ทรงใช้กุศโลบายในการทรงงาน เช่น ทรงหยิบชิ้นงานมาชื่นชมและเสริมองค์ความรู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องขนาดและรูปลักษณ์ที่จะปรับปรุงให้ทันสมัย และการเพิ่มความกว้างของกี่ จาก 80 เซนติเมตรเป็น 1.50 เมตร เพราะช่างทอผ้าจะเคยชินกับการทอผ้าหน้าแคบ ซึ่งที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีต พระองค์ท่านทรงเข้าไปจุดประกายชี้ให้เห็นว่าวงการแฟชั่นต้องใช้ผ้าขนาดกว้างในการตัดเย็บ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเฉดสี การรวมกลุ่มช่วยกันถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน"
"กระทรวงมหาดไทย ขอน้อมนำแนวพระดำริไปขยายผลกระจายให้ทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค ในทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้เรื่องราว 'บ้านนาหว้า' ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในการสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า
O 50 ปี โครงการศิลปาชีพ
“ศูนย์ศิลปาชีพ” ก่อกำเนิดจัดตั้งขึ้นที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นที่แรกตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทอดพระเนตรนิทรรศการตามรอยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ที่วัดธาตุประสิทธิ์ และนิทรรศการความเป็นมาของกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 และได้เข้าเป็นสมาชิกของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน ในตำบลนาหว้าได้ใช้อาคารศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้า และในตำบลท่าเรือได้ใช้พื้นที่กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้าน ท่าเรือ ณ วัดศรีโพธิชัย เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้า ซึ่งบรรจุไว้ในหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านนาหว้า โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม และโรงเรียนราษฎร์สามัคคี โดยมีสมาชิกกลุ่มในพื้นที่อำเภอนาหว้ารวม 200 คน มีการจัดกิจกรรมทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสมาชิกได้ร่วมกันทอผ้าไหมทูลเกล้าฯ ต่อเนื่อง
โดยโครงการนาหว้าโมเดล ประกอบด้วย กลุ่มชุมชนทอผ้าทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน วัดธาตุประสิทธิ์ 2. กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ 3. กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม วัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว 4. กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า 5. กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า หมู่ที่ 3 ตำบลนาหว้า และ6. กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อำเภอนาหว้า ซึ่งชุมชนทั้ง 6 กลุ่มในโครงการนาหว้าโมเดล มาจากตำบลต่างๆ ในอำเภอนาหว้า ซึ่งมีความเหมือนและ ความต่างในรายละเอียดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน มีแหล่งมรดกวัฒนธรรมชุมชนร่วมกัน ทั้งอาชีพ ศาสนสถาน วัดวาอาราม ประเพณีพิธีกรรม แหล่งน้ำป่าชุมชน รวมถึงพิพิธภัณฑ์สิ่งปลูกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน
พบกับนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการทอผ้าของชุมชนและกิจกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชุมชนบ้านนาหว้า ได้ตั้งแต่วันนี้ -24 ตุลาคม 2565 ณ ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ไอคอนสยาม สอบถามเพิ่มเติม Facebook: ICONCRAFT