วันที่ 21 ต.ค.เวลา 10.30 น.ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ว่า กทม.ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาฝุ่นให้กับประชาชน โดยมีศูนย์บัญชาการปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ศาลาว่าการกทม.ดินแดง เพื่อรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบ โดยประสานงานด้านข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 7 วัน และจะมีการรายงานต่อเรื่องเป็นระยะ 

โดยคณะกรรมการฯ จะติดตามปัญหาฝุ่น คือ 1.การเผาในพื้นที่รอบๆ กทม.เช่น จังหวัดรอบๆ กทม.รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากฝุ่นอาจถูกลมพัดลอยมาตกในกรุงเทพมหานคร จึงได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อร่วมกันยับยั้งฝุ่นร่วมกัน 2.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานหนักกว่าปกติและปล่อยมลพิษสู่ท้องถนน จึงประสานกรมการขนส่งทางบกในการตรวจมลพิษ และตรวจว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ไม่ใช่ตรวจเฉพาะตอนยังไม่บรรทุกเท่านั้น

3.การเผาชีวมวลของพี่น้องเกษตรกร กทม.พบจุดเสี่ยงเดิมจากปีที่แล้ว 9 จุด กำลังเจรจากับประชาชนในพื้นที่จุดดังกล่าวเพื่อหาทางออกร่วมกัน เบื้องต้นเกษตรเสนอว่า หากไม่ให้มีการเผา อยากให้กทม.หรือหน่วยงานรัฐสนับสนุนน้ำยาย่อยสลายขยะอินทรีย์ต่างๆ รวมถึงกลวิธีที่ทำให้ย่อยสลายเร็วขึ้นเพื่อให้พวกเขาใช้ทดแทนการทำลายด้วยวิธีการเผา เพราะหากไม่มีวิธีทดแทนจากภาครัฐ จะทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือก

4.ตรวจโรงงาน ปัจจุบัน กทม.พบโรงงานเสี่ยงก่อมลพิษแล้ว 260 โรงงาน จากทั้งหมดประมาณ 6,000 โรงงาน ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตติดตามอย่างใกล้ชิดพร้อมรายงานผลอย่างต่อเนื่อง

5.มาตรการชักธงในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักการอ่านค่าฝุ่นและการติดตามสถานการณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต โดยแบ่งธงเป็น 5 สี ตามระดับความรุนแรงของฝุ่นที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ยังเป็นการทดลองการรายงานสถานการณ์ฝุ่นในโรงเรียน เพื่อจะมีการขยายมาตรการนี้สู่ชุมชนต่อไป