บทความพิเศษ/ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โรคโควิด-19” (COVID-19) ที่ถือเป็น “โรคอุบัติใหม่” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (new infectious diseases) รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี มีมติให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 19 ครั้ง ครั้งล่าสุดสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 มติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และให้ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นการยุติการใช้กฎหมายพิเศษควบคุมโควิดที่ใช้มานานถึง 2 ปี 6 เดือนลง ก่อนเตรียมกลับคืนสู่การบังคับใช้กฎหมายปกติ เพราะมีผลกระทบต่อระบบการค้าเศรษฐกิจ เช่น การค้าขายชายแดนที่ปิดมานานถึง 3 ปี (ช่วงปี 2563-2565)

สถิติการรับวัคซีนโควิดของไทย

ข้อมูลสถานการณ์โควิดทั่วโลก (12 กันยายน 2565) ติดเชื้อ 613,822,943 ราย ไทยอยู่อันดับ 29 ไทยมียอดการติดเชื้อคาดว่าถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด ประชาชนมีภูมิต้านทานจากฉีดวัคซีนและการติดเชื้อมากขึ้น วัคซีนได้ผล สถานการณ์โควิดไทยดีขึ้น ยอดติดเชื้อลดต่อเนื่อง ยอดติดเชื้อเพิ่มน้อยลง(ขาลง) คนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น ภาพรวมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สะสม (28 กุมภาพันธ์ 2564-24 กันยายน 2565) รวม 143,266,311 โดส ใน 77 จังหวัด ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 57,319,964 ราย เข็มที่ 2 สะสม 53,825,963 ราย เข็มที่ 3 สะสม 32,120,384 ราย และจะเริ่มฉีด ”วัคซีนโควิด” เด็ก 6 เดือนถึง 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 ทั่วประเทศ สรุปยอดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ 142,840,476 โดส (4 กันยายน 2565)

โควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ยกเลิกโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ที่ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุม ปัจจุบันเป็นช่วงโควิดขาลง ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่-RSV ขาขึ้น กลุ่มเสี่ยงยังคงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรปเผยว่า คลื่นการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่อาจเริ่มขึ้นแล้วในยุโรป เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาค ผลสำรวจสหรัฐฯ ยอด “ลองโควิด” (Long COVID) มีจำนวนมากถึงหนึ่งในสาม แต่สถานการณ์ระบาดของไทย “ไม่มีรายงานประจำวัน” ทั้งเรื่องป่วยและเสียชีวิต จึงไม่สามารถประเมินได้

ภาวะโพสท์โควิด (Post-Covid Condition)

องค์กรป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) จำแนกภาวะโพสท์โควิด ตามกลไกการก่อกำเนิดโรคเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

(1) ลองโควิด (Long Covid) หรือ Persistent Post-Covid Syndrome (PPCS) (2) ผลกระทบจากการทำงานของอวัยวะหลายอวัยวะภายหลังหายจากโรคโควิด-19 (Multiorgan effects of COVID-19) คืออาการแสดงผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะหรือหลายอวัยวะในร่างกายของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (3) ผลกระทบจากการนอนรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน (Effects of COVID-19 Treatment/Hospitalization) ผลกระทบที่เกิดจากการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ประสบความเครียดรุนแรงเฉียบพลันจากการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการถูกปั๊มหัวใจในการกู้ชีพ เกิดความเครียดสะสมและนำไปสู่การเป็นโรคที่เรียกว่าโพสท์อินเท็นสีฟแคร์ซินโดรม (“Post-Intensive Care Syndrome; PICS”) ความเครียดสะสมส่งผลกระทบต่อจิตใจอันนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตอันเกิดตามมาจากความเครียด “Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD”

ภาวะลองโควิด (Long COVID) คืออะไร

เป็นภาวะที่คนเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการที่เหมือนขณะที่ติดเชื้อ เช่นอาการเหนื่อย เพลีย คงมีหลงเหลืออยู่ เป็นไปได้ว่ากำลังตกอยู่ในภาวะลองโควิด ภาวะลองโควิด คือ อาการหรือกลุ่มอาการแสดงผิดปกติที่ยังคงแสดงอยู่ต่อเนื่อง หรืออาการแสดงผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่เป็นระยะเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ ในผู้หายจากโรคโควิด-19 อาการลองโควิดที่สำคัญได้แก่ มีไข้ต่ำ (Low-grade fevers) ปวดหัว (Headache) เวียนศีรษะ (Dizziness) หายใจหอบ (Dyspnea) ไอ (Cough) แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย (Fatigue) เหนื่อยง่าย (Tiredness) ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวดหู มีเสียงในหู ใจสั่น (Palpitations) ขาดสมาธิ สมองล้า (Brain fogginess) นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ (Muscle pain and joint pain) สูญเสียการได้กลิ่นหรือการรับรส (Persistent loss of smell or taste) เกิดผื่นขึ้นตามตัว ในเพศหญิงอาจพบรอบประจำเดือนมาผิดปกติ

ภาวะลองโควิดส่งผลต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการทำงานภายหลังการหายจากการติดเชื้อ เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวต่อบุคคล ครอบครัว และสังคม การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ Covid-19 ย่อมดีที่สุด

คาดไทยเจอภาวะ “ลองโควิด” หลายแสนคน แนวโน้มโควิดไปในทางที่ดีขึ้น การป่วยโควิดเริ่มลด เตรียมเข้าสู่โหมด “โรคประจำถิ่น” การระบาดโควิด 19 กำลังเข้าสู่โรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล องค์การอนามัยโลก (WHO) (15 กันยายน 2565) เปิดเผยผลการศึกษาติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ของประเทศต่างๆ ภูมิภาคยุโรป โดยระบุว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สองปีแรก หรือระหว่างปี 2020 – 2021 (พ.ศ.2563 – 2564) พบว่า ผู้ที่เคยป่วยจากโควิด มีอาการไม่พึงประสงค์ที่หลงเหลืออยู่หลังหายป่วยจากโรคโควิด หรือที่เรียกว่า “ลองโควิด” ซึ่งมีชาวยุโรปอย่างน้อย 17 ล้านคน มีอาการลองโควิด

โควิดสายพันธุ์ใหม่

ปัจจุบันไวรัสโควิดกลายพันธุ์นับไม่ถ้วน-หลบภูมิ จากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” พบไวรัสโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เปลี่ยนไปแบบไวกว่าเดิมมาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (7 ตุลาคม 2565) ให้ข้อมูลว่า วิวัฒนาการของโควิด-19 ต่างสายพันธุ์ที่มาบรรจบกัน (convergent evolution) เริ่มเห็นหลายตำแหน่งของการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ในอดีต “รีไซเคิล” มาใช้ใหม่ในสายพันธุ์ที่เพิ่งอุบัติขึ้นทั้ง 4 สายพันธุ์ BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ XBB ที่กลายพันธุ์มาจากบรรพบุรุษโอไมครอนที่ต่างกลุ่มกัน มีกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ถึงกว่า 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะระบาดเข้ามาแทนที่ BA.5 ในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566 และพบว่า สายพันธุ์ XBB ดื้อต่อภูมิคุ้มกันกว่าทุกสายพันธุ์

“เจนเนอเรชั่น 3” โอไมครอน “BA.2.75.2 พบในไทยแล้วเมื่อ 13 กันยายน 2565 จำนวน 1 ราย สำหรับไวรัสสิงคโปร์ ซึ่งพบในหลายประเทศก่อนสิงคโปร์ ปัจจุบันเรียก “โควิดสายพันธุ์ XBB” แพร่ระบาดมากที่ประเทศสิงคโปร์ ผลวิจัยพบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด

ข่าวการเสนอให้เลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) รักษาผู้ป่วยโควิด

ผลวิจัยล่าสุดจากสื่อต่างประเทศเมื่อปลายปีที่แล้วชี้ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ควรใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผลการศึกษาวิจัยข้อมูลของบริษัทยาของญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิลพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไม่ช่วยทำให้อาการของโรคโควิดดีขึ้น ไม่ลดความรุนแรงของโรค ไม่ลดการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล ไม่ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย คนที่กินยาฟาวิพิราเวียร์ มีกรดยูริกสูงขึ้นถึง 19.9% เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก 2.8%

อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเหตุผลเสนอให้หยุดเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรมควรเลิกผลิต นำเข้า และไม่ควรส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ร้านขายยาและโรงพยาบาลอีกต่อไป ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านได้เลิกใช้มานานแล้ว และปัจจุบันยาโมลนูพิราเวียร์ ราคาไม่แพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ การเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิดซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ลดความรุนแรงของโรค ลดการเข้านอนในโรงพยาบาล แต่ข้อมูลกรมการแพทย์ สธ. (11 กันยายน 2565) แจ้งว่า ข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ยังปลอดภัย แม้พบยูริกสูง

ยาต้านโควิด สเปรย์พ่นจมูกสู้โควิดและ Telehealth นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรค

มองย้อนยาต้านโควิด เริ่มแรกใช้ยา “ฟาวิพิราเวียร์” ยาตัวที่ 2 เป็นยาชนิดฉีดเรมเดซิเวียร์ รพ.วิชัยยุทธใช้ (13 กรกฎาคม 2564) ในระยะแรกราคาแพงมาก ปัจจุบันราคาถูกลงมาก ประสิทธิภาพดีกว่า ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ ต่อมายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพและเป็นยาชนิดกิน คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ รพ.วิชัยยุทธใช้ (18 กรกฎาคม 2565) ตามมาด้วยยาแพ็กซ์โลวิด (22 กรกฎาคม 2565) ยาทั้ง 2 ตัวหลังนี้มีประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์อย่างเห็นได้ชัด แพทย์แนะนำให้คนไข้กินยาโมลนูพิราเวียร์ที่ผลิตจากอินเดียเพราะช่วยได้ดี เพื่อนบ้าน “ลาว-กัมพูชา” หาซื้อได้ในราคาไม่แพง

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดตัวผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งโควิด-19 ทางกายภาพ ครั้งแรกของไทย ซึ่งไม่ใช่วัคซีนป้องกันโควิด ยี่ห้อ เวลล์โควิแทรป แอนติ-โคฟ นาซาล สเปรย์ (Vaill CoviTRAP Anti-CoV Nasal Spray) ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว วางจำหน่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565

ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา หลายคนอาจได้มีประสบการณ์ใช้งานระบบ Telehealth หรือ การดูแลสุขภาพทางไกล ซึ่งระบบดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดด ช่วยลดการติดเชื้อ ช่วยติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้ป่วย รวมไปถึงลดความหนาแน่นของโรงพยาบาล ประเมินกันว่าแนวโน้มเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปและน่าจะขยายตัวมากขึ้นด้วยในยุคหลังโควิด-19 ตัวอย่างการให้บริการนี้ในต่างประเทศ เช่น ระบบบริการชื่อ XRHealth ของสหรัฐอเมริกาให้บริการ “คลินิกแบบเสมือนจริง” หรือ Virtual Clinic ที่ให้บริการรักษาผ่านอุปกรณ์และแอปพลิเคชัน VR ที่บ้าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน

แน่นอนว่าการแพร่ระบาด การติดเชื้อโควิดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) ที่เป็นรายได้ GDP หลักของไทยลดหายไปมาก เมือง เช่น กทม.เริ่มฟื้นจากโควิด ไซต์งานก่อสร้างเปิด-คนกลับมาเดินทาง มีผลต่อนักลงทุน ความเสี่ยงต่อการลงทุน โพล ม.กรุงเทพ (13 กันยายน 2565) เผยว่า คนไทยตั้งใจเป็นเจ้าของธุรกิจหลังโควิด แต่ไม่กล้าเพราะทุนไม่พอ ความเห็นต่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะทำให้อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.5 ทำให้อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 39.5 ทำให้อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ด้านการท่องเที่ยวหลังโควิดกระจายไปเมืองรอง ไทยจัดประชุมรัฐมนตรี SME วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม “เอเปก” ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน 2565 มุ่งเร่งฟื้นฟูหลังพิษโควิด ถกแนวทางเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการ SME จากผลกระทบโควิด-19 ผ่านการเข้าถึงเงินทุน ให้ปรับตัวสู่ดิจิทัลและ BCG Model หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) (12 กันยายน 2565) ประเมินว่า จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในปี 2565 จะอยู่ที่ 188.1 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7.2 แสนล้านบาท ในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวจะเห็นนักท่องเที่ยวมีความกระตือรือร้นออกเดินทางไปสำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ๆ กระจายตัวออกไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่กระจุกตัวอยู่แค่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเท่านั้น ซึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้คนในท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ให้บริการที่พัก และช่วยให้สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เอกชนวอนรัฐขยายต่ออายุมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวจากโควิด เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างมาก มีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจะทะลุ 10 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะรายได้ GDP หลักของไทยคือ การท่องเที่ยว มีปัจจ้ยบวกข้อมูลบุ๊คกิ๊งดอทคอม ระบุว่า ไทยเป็นเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาไทย , การเดินทางมาไทยสะดวกมากกว่าหลายๆ ประเทศ , ไทยมีนโยบายเรื่องการให้ต่างชาติที่มีรายได้สูง มีทรัพย์สินมาก เข้ามาอาศัยในไทยได้ และเงินบาทที่อ่อนค่าก็หนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงกันยายน-ตุลาคม 2565 ข้อมูลเมื่อ 18 กันยายน 2565 พบว่า ตัวเลขว่างงานไทยต่ำสุด นับแต่โควิดระบาด ถือเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 6.8% ในขณะที่ก่อนโควิด-19 (ปี 2562) เงินเฟ้อไม่ถึง 2% ราคาผักเพิ่มขึ้นมากแม้กระทั่งผักทั่วไปอย่างผักกาดหอม และปัญหาไม่อยู่เฉพาะราคาอาหารแต่สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ เช่น ต้องเพิ่มเงินเดือนพนักงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ผลกระทบจากไวรัส COVID 19 ต่อภาคธุรกิจไทย เดือนกันยายน 2565 การฟื้นตัวของธุรกิจปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่กดดันการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวม โดยภาคการผลิตมีความกังวลต่อปัญหาด้าน Supply Chain เพิ่มขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาพรวมปรับดีขึ้นจากภาคที่มิใช่การผลิตเป็นสำคัญ

นี่คือภาพรวมสถานการณ์โรคโควิดไทยได้ลดความเข้มงวดในมาตรการป้องกันและควบคุมลง เพื่อหวังผลแก้ไขเศรษฐกิจให้เดินหน้า แต่ขณะเดียวกันพัฒนาการของเชื้อโรคกลับทวีขึ้นในเชิงลึกเช่นการกลายพันธุ์ และการเกิดภาวะ “ลองโควิด” ที่คนติดเชื้อติดแล้วติดอีก เป็นโจทย์ที่รัฐและคนไทยทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ