สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

เป็นพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งของวัดใหญ่ชัยมงคล เดิมเรียกกันว่า “พระใบพุทรา” ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกขานเป็น “พระขุนแผนใบพุทรา”พุทธคุณเป็นเลิศในด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดจากภยันตราย

วัดใหญ่ชัยมงคลเดิมชื่อวัดป่าแก้ว เป็นพระอารามหลวงซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1900 และต่อมาในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราช และทรงได้รับชัยชนะ เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นที่วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่จำพรรษาของสมเด็จพระนพรัตน์ พระเถระผู้ยิ่งใหญ่และได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามครั้งนั้น

พระขุนแผนใบพุทรานี้เป็นพระที่พบขึ้นจากกรุพร้อมกับพระขุนแผนเคลือบ โดยพบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2445 ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ก็ยังมีพบอีกครั้ง และพบจำนวนมากกว่าพระขุนแผนเคลือบ สนนราคาจึงยังไม่แพงมากนัก และเป็นพระเครื่องที่น่าสนใจมากเนื่องจากสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับพระขุนแผนเคลือบ พระขุนแผนใบพุทราเนื้อดินถ้าดูจากรูปพรรณสัณฐานโดยรวมแล้วก็มนๆ กลมๆ คล้ายกับใบพุทราจริงๆ ลักษณะองค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัวสองชั้นใต้ฐานมีแท่งนูนคล้ายเป็นก้านของดอกบัว ที่พระเศียรมีประภามณฑลโดยรอบ เท่าที่พบมีทั้งชนิดดินละเอียดและเนื้อค่อนข้างหยาบ ด้านหลังมักอูมนูนน้อยๆ ส่วนพระขุนแผนใบพุทราเนื้อชินนั้นเป็นพระเนื้อชินเงิน รูปพรรณของพระโดยส่วนมากมักจะติดชิดกับองค์พระไม่มีปีกกลมมนเช่นพระเนื้อดิน

“พระขุนแผนใบพุทรา” พระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งของวัดใหญ่ชัยมงคล เดิมเรียกกันว่า “พระใบพุทรา” ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกขานเป็น “พระขุนแผนใบพุทรา” อาจสืบเนื่องจากอิทธิพลของ “พระขุนแผนเคลือบ” ซึ่งเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงมาก   และเห็นว่ามีแหล่งกำเนิดที่วัดใหญ่ชัยมงคลเช่นกันก็เป็นได้ ทั้งที่พุทธลักษณะและรูปทรงของพระทั้งสองพิมพ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ลักษณะพิมพ์ทรงของ “พระขุนแผนใบพุทรา” จะเป็นรูปกลมรีหัวและท้ายค่อนข้างป้านคล้าย “ใบพุทรา” ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ลักษณะ “จับเข่าใน” คือพระกรข้างขวาขององค์พระไม่ได้วางทอดหน้าพระชานุ (เข่า) แต่จะวางอยู่ด้านข้างของพระชานุ พระพักตร์เรียบเกลี้ยง ไม่ปรากฏรายละเอียดของพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ ปรากฏเฉพาะพระกรรณทั้งสองข้าง มีรัศมีเป็นวงกลมโดยรอบพระเศียร พระวรกายเรียบ ไม่ปรากฏเส้นสังฆาฏิ พระเพลาอยู่ในลักษณะนั่งขัดสมาธิราบ แสดงให้เห็นการซ้อนพระชงฆ์อย่างชัดเจนในลักษณะขวาทับซ้าย มีอาสนะรูปบัวคว่ำบัวหงาย และมีก้านบัวปรากฏ รองรับองค์พระพุทธรูปอยู่

“พระขุนแผนใบพุทรา” เป็นพระเนื้อดินเผา สีขององค์พระจะออกเป็นสีแดงอ่อนบ้างแก่บ้าง บางองค์มีเนื้อละเอียด บางองค์มีเนื้อค่อนข้างฟ่าม แต่อย่างไรก็ดี พระทุกองค์ก็จะมีลักษณะเฉพาะของเนื้อดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคือ จะปรากฏเม็ดกรวดเล็กๆ ซึ่งมีสีต่างๆ เช่น สีน้ำตาล สีแดง และสีขาว อยู่ในเนื้อขององค์พระไม่มากก็น้อย อีกประการหนึ่งคือ องค์พระเมื่อผ่านการใช้จะขึ้นมันและแข็งแกร่งขึ้น

 “พระขุนแผนใบพุทรา” นี้ นับเป็นพระที่มีความสำคัญและมีคุณค่าอีกพิมพ์หนึ่งของอยุธยา เนื่องด้วยนอกจากจะมีการค้นพบที่วัดใหญ่ชัยมงคลแล้ว ยังพบอีกแห่งที่วัดพุทไธศวรรค์ ซึ่งทั้งสองวัดนี้เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตในสมัยที่อยุธยาเป็นราชธานีทั้งสิ้น จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นโดยบุคคลสำคัญจึงได้มีการบรรจุไว้ในวัดหลวงที่สำคัญถึงสองแห่ง กอปรกับพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏแก่สายตาในด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดจากภยันตราย ทำให้ได้รับความนิยมและเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพิมพ์อื่นๆ ปัจจุบันของแท้จะปรากฏให้เห็นน้อยมาก เนื่องจากผู้ที่มีไว้ครอบครองโดยเฉพาะชาวอยุธยามีความภูมิใจและหวงแหน ต้องการเก็บรักษาไว้สืบทอดต่อไปยังลูกหลานครับผม