ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ภาระส่วนตัวนั้นว่าหนักอึ้งแล้ว “ภาระสังคม” ก็ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่า
วันทนีย์รู้ว่าน้องเอื้องเป็นคน “ป๊อปปูลาร์” ในหมู่เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน จึงไม่รู้สึกเป็นกังวลหรือหนักใจอะไร แต่กับน้องนายยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของเธอ เพราะยิ่งน้องนายเติบโตขึ้นก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้น น้องนายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีความหวาดระแวงคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่คนแปลกหน้า แต่รวมถึงคนในบ้านเองนั้นด้วย แม้กระทั่งหมาและแมวในบ้าน น้องนายก็ดูหวาดกลัวจนน่าสงสาร
เมื่อน้องนายไม่สามารถเรียนกับเด็กปกติทั่วไปได้ และที่พิษณุโลกในสมัยนั้นก็ยังไม่มีสถานที่สำหรับเด็กพิเศษ วันทนีย์ก็ต้องทำหน้าที่สอนสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เด็กอื่นต้องเรียนกันในโรงเรียนให้กับน้องนายเสียเอง แต่เนื่องจากวันทนีย์ไม่ได้มีพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นครู การสอนน้องนายจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก และยิ่งใช้ “ความเป็นแม่” ในการสอนก็ยิ่งทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เพราะความเป็นแม่จะทำให้เกิดความรักความห่วงใยจนมากล้นเกินไป พร้อมกับความคาดหวังที่อยากให้ลูกได้สิ่งโน้นสิ่งนี้จนมากมาย ก็ยิ่งเพิ่มความว้าวุ่นใจมากกว่าปกติ คนเป็นแม่จึงยิ่งสร้างปัญหาให้กับลูกเพราะความคาดหวังที่มหาศาลนั้น
มีคนมาให้คำแนะนำต่าง ๆ กับวันทนีย์อยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยวันทนีย์ในการเลี้ยงดูและสอนหนังสือน้องนาย รวมถึงแม่ของวันทนีย์ก็ดูจะวุ่นวายไม่แพ้ตัววันทนีย์เอง แต่นั่นก็ยิ่งทำให้วันทนีย์หงุดหงิด หลายครั้งก็แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อคนที่มาแสดงความห่วงใยและหวังดีเหล่านั้น แม้กระทั่งกับแม่ของตัวเองจนเข้าหน้าวันทนีย์ไม่ติด มีบางคนแนะนำให้พาตัวน้องนายไปรักษาและเรียนในกรุงเทพฯ แต่วันทนีย์ในฐานะ “เจ๊ใหญ่” ของบ้าน ก็มีภาระต้องดูแลธุรกิจของครอบครอบอยู่ด้วย รวมทั้งที่ไม่อยากทิ้งแม่ไว้กับคนอื่น ที่หมายถึงลูกคนอื่น ๆ ที่ก็กระจัดกระจายไปทำอาชีพในที่อื่น ๆ นั้นด้วย รวมถึงน้องเอื้องก็กำลังเติบโตขึ้นเป็นสาวรุ่น ก็ยิ่งทำให้วันทนีย์เป็นห่วงขึ้นเป็นทวีคูณ
เรื่องการหวงลูกของวันทนีย์เป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะในเวลาที่มีคนมาพูดพาดพิงถึงลูกทั้งสอง วันทนีย์ก็จะโต้ตอบอย่างดุเดือด บ่อยครั้งที่มีคนมาบอกว่าน้องเอื้องไม่ใช่เด็กผู้หญิง แต่เป็น ”เด็กชาย” หรือ “ทอมบอย” วันทนีย์ก็จะเดือดใส่ ถ้าสนิทสนมกันก็ตวาดตอบด้วยเสียงอันดัง ว่าคงอิจฉาลูกของเธอที่เก่งกล้าสามารถต่าง ๆ แต่ถ้าไม่สนิทกันก็จะเบ้ปากใส่ แล้วบอกให้อย่ามายุ่งกับลูกสาวของเธอ ส่วนกับน้องนายที่บางคนก็เผลอปากเรียก “เด็กปัญญาอ่อน” เธอก็จะด่ากลับไป อย่างสุภาพหน่อยก็บอกว่าขออย่าให้มีลูกหลานเป็นอย่างนี้บ้างก็แล้วกัน แต่ถ้าไม่เกรงใจก็จะแช่งกลับไปตรง ๆ ว่า ขอให้ญาติพี่น้องของคน ๆ นั้นมีอันเป็นไป หรือไปตายเสียให้พ้น ๆ
อาการปากร้ายของวันทนีย์เกิดขึ้นอยู่เป็นปี ตอนหลังก็มีบางคนเผลอไปพูดถึงลูกทั้งสองของเธอเข้า แต่ก็ต้องแปลกใจที่เห็นเธอเงียบไม่โต้ตอบอะไร แถมบางทีก็ยิ้มให้ แต่กระนั้นก็ยังไม่มีใครกล้าเฉียดเข้าไปใกล้ บางคนลือว่าเธอพาลูกไปรดน้ำมนตร์กับหลวงพ่อที่วัดป่าแห่งหนึ่ง แล้วหลวงพ่อให้คาถา “ปิดปาก” คือขอให้วันทนีย์สงบปากสงบคำอย่าไปโต้ตอบอะไรกับใคร บางคนก็ลือว่าตัววันทนีย์เองนั่นแหละที่ไปรดน้ำมนต์ เพราะแม่ของเธอหลอกให้เธอไปทำบุญที่วัดป่าแห่งนั้น แล้วก็พาไปกราบหลวงพ่อ แล้วบอกหลวงพ่อว่าวันทนีย์นั้นเป็นบ้า ขอให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์ให้ ความจริงนั้นวันทนีย์ไปรดน้ำมนต์พร้อมกับลูกที่วัดป่าแห่งนั้นจริง ๆ แต่ไม่ได้ไปรักษาอาการต่าง ๆ ของลูก รวมทั้งไม่ได้รักษา “โรคบ้า” ของเธอนั้นด้วย
วัดนั้นความจริงจะเรียกว่าวัดป่าก็ไม่เชิง เพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง เพียงออกถนนหลวงไปสัก 7-8 กิโลเมตรก็จะถึงภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง ภูเขานี้ปกคลุมด้วยต้นไม้จนมองไม่เห็นยอดเขา ที่บนยอดเขานั้นมีศาลาไม้มุงกระเบื้องหลังย่อม ๆ อยู่หนึ่งหลัง เพื่อใช้เป็นที่ขึ้นมาทำบุญของญาติโยม ล้อมรอบศาลานี้ก็เป็นป่าทึบ เมื่อเดินไปด้านหลังสัก 100 เมตรก็จะเห็นกุฏิไม้มุงสังกระสีหลังเล็ก ๆ กระจายอยู่ 3 หลัง ซึ่งหลังตรงกลางนั้นเป็นกุฏิของหลวงพ่อ ท่านมีชื่อเสียงว่าเป็นศิษย์ที่เคยปรนนิบัติวัตรฐากหลวงปู่ผู้มีปฏิปทาเป็นที่เลื่องลือรูปหนึ่งทางภาคอีสาน ทำให้คนที่ทราบว่าท่านมาจำพรรษาอยู่ที่ตรงนี้ พากันมากราบไหว้และทำบุญ แต่ก็อยู่ในวงจำกัด เพราะหลวงพ่อไม่ชอบวุ่นวาย ถ้าไม่ใช่เกรงใจกันจริง ๆ แล้ว ท่านก็จะพยายามเลี่ยงที่จะออกมาให้พบ
ครั้งหนึ่งตอนที่พ่อของวันทนีย์ป่วยหนัก แม่ได้ให้คนแบกหามพ่อขึ้นมาบนเขา รออยู่กว่าครึ่งวันกว่าที่หลวงพ่อจะออกมาพบ แม่ขอให้หลวงพ่อให้สวดมนต์เพื่อให้พ่อได้ทำจิตใจให้สงบ และด้วยความที่หลวงพ่อเป็น “อรหันต์” ก็เชื่อว่าจะได้นำทางไปสู่พระนิพพานอันสุขสงบนั้นด้วย พอลงมาจากเขาพ่อก็อยู่มาได้อีกเป็นปี จึงให้ช่างขึ้นไปสร้างศาลากับกุฏิให้ใหม่ และขึ้นไปทำบุญอีก 2-3 ครั้ง เมื่อพ่อตายไป แม่กับวันทนีย์ก็ขึ้นไปทำบุญอยู่บ้างปีละ 1-2 ครั้ง เพราะหลวงพ่อไม่ชอบให้ใครไปรบกวนดังกล่าว
แม่ของวันทนีย์เองนั่นแหละที่บอกกับใครต่อใครว่า วันทนีย์ได้รับพรจากหลวงพ่อเป็นบทสนทนาเพียงสั้น ๆ คือพอหลวงพ่อรดน้ำมนต์ตามที่แม่ขอร้องแล้ว ก็ขอให้ท่านให้พร หลวงพ่อก็ถามวันทนีย์ว่า “อยากได้พรอะไรหรือโยม” วันทนีย์ก็ตอบว่า “อยากให้ลูกทั้งสองคนเป็นเหมือนเด็กปกติ” หลวงพ่อก็หันไปดูน้องเอื้องกับน้องนายอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะพูดว่า “เขาก็เป็นปกติดีนี่ คนอื่นต่างหากที่ผิดปกติ เราก็อย่าไปทำอะไรที่ผิดปกติกับลูกสิ” แล้วท่านก็หลับตาสงบไป ครอบครัววันทนีย์ก็พากันกราบลาท่าน “ที่ฉันตื่นเต้นที่สุดนะ ก็ตอนที่น้องนายพูดออกมาก่อนกราบหลวงพ่อว่า นิพพานัง ปรมัง สุขขัง อู้ย ตัวฉันนี้ขนลุกหมดเลย” แม่มักจะพูดประโยคนี้เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้ใครต่อใครฟัง เพราะถ้าอยู่บ้านน้องนายจะไม่พูดอะไรกับใครเลยนอกจากวันทนีย์
วันทนีย์เมื่อกลับมาบ้านก็ยังดูแลลูกทั้งสองตามแบบที่เคยทำมาเดิม ๆ เพียงแต่พยายามมองลูกให้มากขึ้น เพราะมีความสงสัยอย่างที่หลวงพ่อพูดว่า “ลูกทั้งสองคนเป็นปกติ” นั้นเป็นปกติอย่างไร จนกระทั่งย้อนนึกไปถึงคำที่คุณหมอที่ทำคลอดน้องนายพูดขึ้นตอนที่พาน้องนายไปรักษาอาการไม่พูด คุณหมอพูดว่า “อาการปกติของเด็กที่เป็นแบบนี้ก็จะเป็นอย่างนี้” วันทนีย์จึงร้องขึ้นในใจว่า “อ้อ ลูกก็เป็นปกติของลูกแบบนี้” พร้อมกับคิดเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่ผู้คนพูดถึงความไม่ปกติของน้องเอื้องที่มีท่าทางเป็น “ทอม” นั้นด้วย แล้วเธอก็ตะโกนย้ำขึ้นมาในใจอีกเช่นกันว่า “อ้อ นี่เขาก็เป็นปกติของเขานี่”
วันทนีย์หาหนังสือมาอ่านเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกทั้งสอง น้องเอื้องนั้นสังเกตได้เลยว่าวันทนีย์เปลี่ยนไป เพราะแต่ไหนแต่ไรก็มักจะบ่นเรื่องเสื้อผ้าที่น้องเอื้องไม่ชอบใส่กระโปรงหรือแต่งแบบผู้หญิง ตอนนี้ก็มาพูดแต่ให้รักษาความสะอาด และเมื่อน้องเอื้องชอบเล่นกีฬา วันทนีย์ก็ส่งเสริมให้เข้าแข่งขัน ทั้งยังตามไปเชียร์ที่ในสนามอีกด้วย ส่วนน้องนายนั้นสนใจดูแต่โทรทัศน์ เธอก็นั่งดูโทรทัศน์เป็นเพื่อนลูก เพื่อดูแต่รายการของเด็ก ๆ ตามที่น้องนายชอบ รวมถึงช่วยวาดรูปและเล่นเกมต่าง ๆ ที่น้องนายหมกมุ่นอยู่นั้นด้วย ซึ่งก็ทำให้เธอ “ผ่อนคลาย” ได้เป็นอย่างมาก อย่างที่ผู้ใหญ่มักพูดว่า “เป็นเด็กนี่สนุกที่สุด”
แม้ในบ้านจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นปกติ แต่นอกบ้านนั้นกลับไม่เข้าใจความเป็นปกติที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านของวันทนีย์นั้น