เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต เร่งทำความเข้าใจสังคมเรื่องไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา หลังมีกรณีการชกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยว่า เรายึดถืออยู่แล้วว่า ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาใด ๆ ซึ่งความรุนแรงไม่ได้หมายเพียงความรุนแรงทางร่างกาย ยังมีการใช้วาจา คำพูดส่อเสียดก้าวร้าว ก็เป็นตัวความรุนแรงโดยตรงและเป็นตัวยั่วยุความรุนแรงด้วย และการกระทำความรุนแรงด้านจิตใจ เช่น การละเลย ละทิ้ง กักขังหน่วงเหนี่ยวก็เป็นความรุนแรงจิตใจ ภาพรวมจึงมี 3 มิติ คือ กาย วาจา และจิตใจ
“การสนับสนุนด้วยคำว่าสะใจ ไม่ได้แก้ปัญหา แต่ทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกว่าความโกรธได้คลายตัวลงบ้าง แต่เป็นการคลายความโกรธ แต่อาจเร้าความโกรธระลอกใหม่ กลุ่มคนใหม่ ๆ หรือกลุ่มเดิมขึ้นมา ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาอารมณ์ด้านลบบางอย่างเพื่อสร้างอารมณ์ด้านลบใหม่ ๆ ขึ้นมาและสร้างปัญหาอื่น ๆ ขึ้นมาด้วย ถ้าเราจะแก้ปัญหา ส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ที่ความรุนแรง แต่แก้ที่สติปัญญามากกว่า กรณีคนที่เราชอบก็บอกว่าไม่สนับสนุนความรุนแรง แต่เป็นคนที่เราไม่ชอบก็บอกว่าสมควรแล้ว สะใจ ต้องทำความเข้าใจอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า อาจจะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มีอคติอยู่ คนไหนที่เรารักก็มีคะแนนบวก แต่ว่าถ้าเรามีสติก็ควรจะก้าวข้ามอคติลักษณะนั้นด้วย คงไม่ได้ทำได้ทุกคนหรือทุกสถานการณ์ แต่ถ้าทำได้สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้สติให้มาก ก็จะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ผลกระทบด้านลบจะน้อยลง เกิดผลด้านบวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็สามารถทำได้”