ภายหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา เวลา 04.36 น. ของช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ซึ่งมีการตรวจพบว่า มีแรงสั่นสะเทือนขนาด 4.1 ริกเตอร์ ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 2 กิโลเมตร โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณ หมู่ที่ 3 บ้านสันต้นแหนเหนือ ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงต่างรับรู้ได้ถึงแรงสั่นทะเทือนไปทั่ว
วันที่ 20 ต.ค. 65 เวลา 11.00 น. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางไปที่เทศบาลตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด เพื่อรับฟังบรรยายสรุปและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้แล้ว โดยมี นายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอดอยสะเก็ด พร้อมด้วย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อรายงานผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากเริ่มมีการเกิดเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวแล้ว จึงได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้น เบื้องต้น พบว่า มีพื้นที่ที่รับรู้ถึงความสั่นไหวรวมทั้งหมด 15 อำเภอ จาก 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ และจากการตรวจติดตามบริเวณพื้นที่จุดศูนย์กลางเกิดเหตุ ในตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด เบื้องต้นพบว่า มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย พื้นผิวผนังปูนฉาบและกำแพงบ้านมีรอยร้าว จำนวน 4 หลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ก่อสร้างขึ้นมาอย่างง่าย และมีอายุการใช้งานมานาน นอกจากนี้ยังมี โรงเรียนแม่คือวิทยา และ วัดสารภี หรือวัดพระเจ้าตนหลวง ที่ได้รับผลกระทบและเกิดรอยแตกร้าวในบางส่วน ส่วนพื้นที่สำคัญในเขตพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ยังไม่ได้รับผลกระทบ และยังไม่พบว่ามีการเกิด Aftershock ตามมา
ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้ทุกอำเภอ เข้าไปสำรวจความเสียหายตามสถานที่ต่างๆ ทุกพื้นที่ อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เนื่องจากบางจุดอาจยังไม่เกิดความเสียหายในทันที แต่อาจมีผลกระทบตามมาภายหลัง โดยเฉพาะสถานที่สำคัญๆ เช่น สถานที่ราชการ วัด และโบราณสถานต่างๆ รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายและมีอายุการใช้งานยาวนาน
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่่ติดตามสถานการณ์ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเพียง 15 กิโลเมตร และเป็นจุดที่ประชาชนต่างกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนโดยวิศวกรของเขื่อนตั้งแต่เกิดเหตุแล้ว พบว่า มีแรงสั่นไหว แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนแม่กวงแต่อย่างใด โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่าง เดินเท้าสำรวจตลอดแนวสันเขื่อน แต่ก็ไม่พบรอยแยกที่เป็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้