ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

มีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง และกลุ่มชนที่เชื่อกันว่ายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย อธิปไตยและบูรณภาพในดินแดง ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชนกลุ่ม NGO ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกได้ออกมาตำหนิติเตียนรัฐบาลในกรณีที่งดออกเสียงในมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติประณามรัสเซีย ในกรณีจัดให้มีการจัดทำประชามติในแคว้น 4 แคว้น ที่เคยอยู่ในปกครองของยูเครน คือ แคว้นลูฮันสก์ แคว้นโดเนตสก์ แคว้นซาปอริซเซีย และแคว้นเคอร์ซอน และทำตามประชามติคือ ผนวกดินแดนเหล่านั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย

โดยผู้ที่ออกมาตำหนิติเตียนการงดออกเสียงของไทยในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ อ้างว่าทำให้เสื่อมเสียเกียติภูมิของชาติ

ทว่าเขาเหล่านั้นได้พิจารณาหรือไม่ว่าการงดออกเสียงนั่นอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เพราะถ้าเราโหวตประณามรัสเซีย เราก็อาจจะตัดโอกาสที่จะซื้อหาพลังงานในราคาถูกที่รัฐบาลกำลังติดต่ออยู่

แต่ถ้าเราโหวตสนับสนุนรัสเซีย ซึ่งก็มี 3-4 ประเทศเท่านั้น นอกจากจะเป็นการฝืนกระแสการเมืองโลกแล้ว เราก็อาจมีปัญหาเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ในอนาคต

อย่างไรดีอันมติของสมัชชาใหญ่ สหประชาชาตินั้นในความเป็นจริงไม่มีผลในเชิงบังคับใดๆกับรัสเซียเลย เหมือนกับมติจำนวนมากที่เคยออกมาประณามอิสราเอลที่ทำการยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ และทำการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 75 ปีแล้ว

ซึ่งอิสราเอลก็มิได้สะทกสะท้านยังคงเดินหน้าเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และยึดครองดินแดนปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 75 ปี โดยที่ตลอดเวลาก็ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะกำจัดชาวปาเลสไตน์ให้สิ้นซาก ไม่ละเว้นแม้แต่ทารกที่จะถือกำเนิด หรือจะเกิดในอนาคต ด้วยการควบคุมกีดกันอาหารที่จะเป็นประโยชน์ต่อทารก ยารักษาโรค แม้แต่น้ำดื่มที่สะอาดตลอดจนทำลายระบบการศึกษาของเยาวชนชาวปาเลสไตน์

รัฐอิสราเอลก็ไม่เคยหยุดยั้งแม้แต่จะมีมติประณามจากสมัชชาใหญ่ หรือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมที่มีมานับเป็นร้อยครั้ง ตราบใดที่รัฐอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ถ้าจะถามว่าทำไมสหรัฐฯจึงสนับสนุนอิสราเอลอย่างสุดโต่งแบบนั้น ก็ต้องบอกว่าขบวนการยิวไซออนิสต์ โดยผ่านคณะกรรมาธิการกิจการสาธารณะอเมริกา-อิสราเอล The American Israel Public Affairs Committee (AIPAC) ซึ่งมีอิทธิพลและเงินทุนมหาศาลนั้นมีบทบาทในการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรส และสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างสำคัญจึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯจะต้องให้การสนับสนุนอิสราเอลในทุกมติ แม้แต่การให้การช่วยเหลือทางทหารโดยไม่มีเงื่อนไข

ดังนั้นไม่ว่าไทยจะลงมติหรืองดออกเสียง มติของสหประชาชาติก็ไม่มีความหมายอะไรในการระงับยับยั้งรัสเซียในการดำเนินการต่อยูเครน

และถ้าพูดถึงเกียรติภูมิก็อยากถามว่า แล้วการงดออกเสียงในมตินี้ของอินเดีย มันทำให้อินเดียเสื่อมเสียเกียรติภูมิหรือไม่ เพราะอินเดียมุ่งที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในการค้าขายกับรัสเซีย โดยเฉพาะอินเดียต้องการสินค้าด้านพลังงาน ที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศและถ้ามีเหลือก็ขายต่อได้กำไรไปเหนาะๆ

ที่น่าสนใจคือคำปราศรัยของเอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ นายเกิ้ง ส่วง เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ว่า

“เป็นเวลาเกือบ 8 เดือนแล้วที่วิกฤตการณ์ในยูเครนเริ่มแพร่กระจาย โดยที่ความขัดแย้งในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป และสงครามก็ยังคงขยายตัว ความคาดหวังในการสร้างสันติภาพก็ยังไม่ปรากฏ แต่วิกฤตการณ์นี้ยิ่งเพิ่มและขยายใหญ่ขึ้น และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และผลกระทบที่ล้นหลามยังคงแพร่กระจายไปยังเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของผู้คน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนมากขึ้นสู่โลกที่ปั่นป่วนอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

แม้จะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆในความขัดแย้งให้มีการหยุดยิง และยุติสงครามเสียแต่เนิ่นๆ และแก้ไขวิกฤติอย่างสันติ ผ่านการเจรจา โดยประเทศเหล่านั้นต่างเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นแก่ชาวยูเครน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือกันลดผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา พวกเขาเรียกร้องให้มีความสามัคคี เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างค่ายที่เกิดจากวิกฤติและหลีกเลี่ยงการเริ่มสงครามเย็นครั้งใหม่ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ควรเป็นจุดสนใจของการประชุมพิเศษฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่นี้ และเป้าหมายที่ควรจะบรรลุ...”

อย่างไรก็ตามฝ่ายที่อยู่ข้างตะวันตกและยูเครนก็จะต้องโจมตีจีนว่า การแก้ปัญหาอย่างง่ายๆในวิกฤติยูเครนก็คือการให้จีนร่วมมือกับตะวันตกแซงก์ซั่นรัสเซีย เพื่อให้รัสเซียหมดกำลังที่จะทำสงครามต่อไป

แต่ถ้าเราเป็นจีนเราจะทำไหม ในเมื่อก็รู้ว่าถ้ารัสเซียพ่ายแพ้ยับเยินลง จีนก็จะเป็นเป้าหมายของตะวันตกต่อไป

อนึ่งสีจิ้นผิงเองก็เคยปฏิเสธข้อเรียกร้องของไบเดนมาแล้ว เมื่อมีการประชุมทางไกลกัน ด้วยภาษิตจีนว่า “ใครเอากระพรวนไปผูกคอเสือก็ต้องไปถอดออกเอง” นั่นคือจีนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทของยูเครนรัสเซีย แม้จะไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังไปบุกยูเครนของรัสเซียก็ตาม

ดังนั้นการลงมติประณามรัสเซีย นอกจากไม่อาจระงับยับยั้งข้อพิพาทและการรบที่ยูเครน ยังเป็นการยั่วยุที่อาจทำให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ได้

ดังนั้นเราอาจมาตั้งประเด็นใหม่ว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าไทยจะเสนอแผนสันติภาพให้องค์การสหประชาชาติพิจารณา เพื่อสันติภาพและเพื่อเกียรติภูมิของชาตินั่นคือ เสนอให้มีการเจรจาบนพื้นฐานที่ให้รัฐทั้ง 4 ในยูเครนเป็นรัฐเอกราช ภายใต้การรับรองและปกป้องของสหประชาชาติเหมือนกับที่องค์การนี้ได้ทำการสนับสนุนการลงประชามติของชาวซูดานใต้มาแล้ว เมื่อสหประชาชาติรับรองและส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปดูแล และให้รัสเซียถอนทหารออกจากดินแดนนี้ทั้งหมด โดยให้มหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติให้สัตยาบันรับรองความปลอดภัยของ 4 รัฐนี้ ก็เป็นกรอบคร่าวๆที่นำเสนอ ดีกว่ามาเพ้อเจ้อเรื่องเกียรติภูมิของชาติบนพื้นฐานที่ไม่เป็นจริงหรือมีการเลือกปฏิบัติ

เหมือนกรณีที่อิสราเอลโดยการสนับสนุนของสหรัฐฯ ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 75 ปีแล้ว สหประชาชาติก็ทำอะไรไม่ได้ แม้มีข้อตกลงอย่างข้อตกลงออสโลที่ทั้งฝ่ายอิสราเอล-ปาเลสไตน์ตกลงร่วมกัน ก็ถูกอิสราเอลบิดพลิ้วไม่เคยปฏิบัติตามสัญญา

ดีกว่าไหมครับถ้าจะเลิกแบ่งขั้วค่ายด่าทอกันเอง เพราะประเทศไทยก็มีปัญหาที่ซับซ้อนมากพอแล้ว