วันที่ 20 ต.ค.2565 เวลา 10.30 น.ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาครู สถานศึกษา โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เข้าร่วม

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย นอกจากดูแลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเมือง กทม.มีโรงเรียนในสังกัดถึง 437 โรงเรียน ไม่เพียงเด็กที่เกิดมาแล้วเท่านั้น กทม.ดูแลเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์จนถึงเข้าโรงเรียน ทั้งนี้ ยังมีเด็กที่ตกสำรวจ และเด็กที่ขาดโอกาสอีกมายมายที่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนหนังสือเนื่องจากความยากจนและปัญหาครอบครัว การสร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมเป็นหัวใจของการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีการลงทุนใดคุ้มค่าเท่าลงทุนกับเด็กและเยาวชน เพราะสุดท้ายแล้วเด็กเหล่านั้นจะเข้มแข็ง กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองต่อไป

ดร.ไกรยศ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ทางกฎหมายของ กสศ.ตามพรบ.ที่กสศ.จัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้กสศ.มีโอกาสส่งเสริมเรื่องการศึกษาให้ประชาชนมีสิทธิ์ได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 ของพรบ.ซึ่งกำหนดให้กสศ.ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันเรื่องการศึกษาอย่างเท่าเทียมภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ 5 ข้อ ได้แก่ 1.สนับสนุนพัฒนานวัตกรรมการคัดกรองความยากจน และสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้กทม.ได้เป็นต้นแบบในการทำงานให้กับจังหวัดอื่นๆ เพื่อเป็นความหวังให้พ่อแม่มีความตั้งใจให้บุตรหลานเป็นอนาคตของครอบครัวและประเทศชาติ 2.ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 3.สนับสนุนการพัฒนาครู สถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและความหลากหลายของเด็กและเยาวชน 4.เปิดโอกาสให้กทม.และกสศ.ได้บูรณาการด้านข้อมูลและระบบสารสนเทศ รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานภายนอกของกทม.เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถสนับสนุนเรื่องเงินบริจาค และเงินระดมทุนในอนาคตได้ 5.ร่วมกันสนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะมีการขยายผลการดำเนินงานให้ยั่งยืนทั้งในกทม. และระดับชาติ รวมถึงระดับนานาชาติต่อไป

ดร.ประสาร กล่าวว่า การพัฒนาต่างๆ หัวใจอยู่ที่คนและบริบทแวดล้อมต่างๆ เช่น ครอบครัว สังคม และที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา จากสถานการณ์โควิคที่ผ่านมา กสศ.พบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีบุตรหลานกำลังเรียนหนังสือในโรงเรียน ตัวเลขทางการเงินจาก กสศ.ระบุว่า เฉพาะผู้ที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 15 ปีในกทม. สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาเฉลี่ย 2 เท่าเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุด10% มีการใช้จ่ายค่าการศึกษาเฉลี่ยปีละ 6,600 บาท ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้สูง10% มีการใช้จ่ายเรื่องการศึกษาเฉลี่ยปีละ 78,000 บาท ความต่างระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าวคิดเป็น 12 เท่า ดังนั้น เรื่องความเหลื่อมล้ำหรือไม่ สามารถใช้เครื่องมือทางการศึกษากลั่นกรองเพื่อหาคำตอบได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องความเสมอภาคมีหลายมิติ แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงการศึกษา เหมือนคำพูดของชาวแอฟริกาว่า ‘การเลี้ยงเด็กเป็นงานของทั้งหมู่บ้าน’ คือ ต้องสนับสนับสนุนสถาบันครอบครัวควบคู่ไปกับสถาบันการศึกษา ภายใต้ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหารของเด็กและเยาวชน 2.ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว 3.ความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก 4.ความปลอดภัยของสถานศึกษา เด็กและครู 5.ความพร้อมของชุมชนและท้องถิ่นในการช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความเสมอภาค สำหรับทุนการศึกษาที่ กสศ.มอบให้เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมต้นจะมีการติดตามความคืบหน้าของเด็กแต่ละคนถึง 20 ปี ทั้งเรื่องการเรียน สุขภาพ และบริบทแวดล้อม เพื่อนำข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืนและความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป