กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เน้นย้ำประชาชนช่วงฤดูผลัดเปลี่ยนฉับพลันจากฝนเป็นหนาว     พร้อมเผยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ที่มีประโยชน์ในการปฏิบัติตน การบริโภคอาหาร รวมถึงเมนูชูสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพ   ให้แข็งแรง ห่างไกลโรค ในช่วงฤดูหนาว

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป สภาพอากาศของประเทศไทย  หลายจังหวัดจะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยยังคงมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ และเริ่มจะมีอากาศเย็นในตอนเช้า ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เล็งเห็นปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชนในช่วงอากาศผลัดเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และ เด็ก มีปัญหาด้านสุขภาพในช่วงนี้ได้

นพ.กุลธนิต วนรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากข้อมูลวิชาการของสถาบันการแพทย์ไทย-จีน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน การดูแลสุขภาพตนเองในช่วงอากาศหนาวเย็น โดยธรรมชาติแล้ว “อิน”  จะมากกว่า “หยาง” ความเย็นซึ่งเป็นอินจึงเป็นสาเหตุก่อโรคที่พบได้บ่อย และหากรักษาความอบอุ่นของร่างกายไม่เพียงพอ เช่น อยู่ในที่ที่หนาวเย็น สวมใส่เสื้อผ้าบางเกินไป ถูกฝน หรือแช่น้ำเย็นเป็นเวลานาน จะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย การเจ็บป่วยจากความเย็นจะมีลักษณะเฉพาะตัว และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ มากมาย ความเย็นในฤดูหนาวจะกระทบหยางของไตได้ง่าย  ซึ่งหยางของไตเป็นรากฐานของลมปราณหยางในร่างกาย ฤดูนี้คนที่มีสุขภาพอ่อนแอจึงควรบำรุงไต เพราะไตมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพทั้งด้านการเจริญเติบโต ความแข็งแรง อายุขัย ตลอดจนสมรรถภาพทางเพศ โดยการบำรุงจะต้องเลือกวิธีที่เหมาะสม และควรปรึกษาแพทย์แผนจีนก่อน

สำหรับอาการและโรคที่พบบ่อย และมีผลกระทบต่อร่างกาย ได้แก่ 1. หยางไตไม่เพียงพอ มักมีอาการขี้หนาว     มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยเอวและเข่า 2. ชี่ (ลมปราณ) ไตไม่เพียงพอ มักมีอาการด้านระบบการหายใจ เช่น หอบ หายใจเหนื่อยง่าย และหายใจเข้าสั้น ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลียง่าย และเป็นหวัดง่าย โดยเมื่อหยางหรือชี่ไตพร่องเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิด  3. อาการอินไตน้อย มักมีอาการขี้ร้อนโดยเฉพาะช่วงบ่ายจนถึงค่ำ รู้สึกร้อนที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และใบหน้า นอนหลับยาก คอแห้งดื่มน้ำบ่อย และขาไม่มีแรง 4. จิง (สารจำเป็น) ไตไม่เพียงพอ มักมีอาการรู้สึกไม่แจ่มใส ขาอ่อนแรง ผมร่วงง่าย ขี้หลงขี้ลืม และเวลาคิดหรือทำอะไรก็จะเชื่องช้า 5. ความเย็นกระทบม้าม และกระเพาะอาหาร มักมีอาการอาเจียนเป็นน้ำใส   ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือท้องเสียถ่ายเป็นกากอาหารที่ย่อยไม่หมด ขี้หนาว ปวดเมื่อย และขาเย็น เป็นต้น

การปฏิบัติตนโดยทั่วไปในฤดูหนาว คือ 1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเย็น แต่ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยดื่มวันละประมาณ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร 2. นอนเร็วและตื่นช้า โดยนอนตั้งแต่หัวค่ำ เนื่องจากดวงอาทิตย์ตกเร็วเพื่อให้ร่างกายได้เก็บสะสมพลังงาน และตื่นช้าคือตื่นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการปรับวิถีชีวิตไปตาม  ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก 3. ปรับอารมณ์จิตใจให้สงบไม่ฟุ้งซ่าน 4. เดินออกกำลังกายรับแสงอาทิตย์และหายใจให้ลึก 5. ทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ กุ้ง และนม 6. ทานผักประเภทถั่วเหลือง กระเทียม หอมใหญ่ กุยช่าย คะน้า และไชเท้า 7. ทานผลไม้ เช่น เกาลัด ส้ม และ ส้มโอ