วันที่ 19 ต.ค.65 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 ได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรณีให้อำนาจจังหวัดในการออกคำสั่งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีการยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ระเบียบนี้ยังค้างอยู่ จึงยกเลิก ซึ่งไม่ต้องเข้า ครม. เพียงแต่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เลย ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการชดเชยและชดใช้ความเสียหายมี 3 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มีผลย้อนหลังกรณีโควิด-19 ที่ผ่านไปแล้ว แต่ออกมาเพื่อรองรับโรคระบาด โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ คือ
1.การชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ จะเป็นประชาชนทั่วไปที่รับความเสียหาย สามารถยื่นคำขอต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือสำนักอนามัย กทม. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รู้ความเสียหาย และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ภายใน 7 วัน ซึ่งจะพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน หากค่าทดแทนไม่เกิน 1 แสนบาท จะเสนอกรมควบคุมโรคดำเนินการจ่าย หากเกิน 1 แสนบาท เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาจ่าย รายการจ่ายค่าทดแทน มีทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เป็นต้น ถ้าไม่มีรายการก็จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา
2.ค่าชดเชยให้แก่เจ้าหน้าที่ จะคล้ายกับมาตรา 41 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ตรงนี้เป็นการออกกฎหมายมาโดยเฉพาะสำหรับโรคติดต่อ สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อหรือเป็นโรคขณะปฏิบัติหน้าที่ ครอบคลุมทั้งสังกัดส่วนกลาง ภูมิภาค กทม. และส่วนท้องถิ่น โดยกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท, สูญเสียอวัยวะ พิการ ได้รับอันตรายสาหัส บาดเจ็บรักษาเกิน 20 วันขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท และติดเชื้อและได้รับการรักษาตั้งแต่ 7 วัน แต่ไม่เกิน 20 วัน ได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ/เงินนอกงบประมาณของกรมควบคุมโรค
3.กรณีการชดใช้ เช่น กรณีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ออกคำสั่งให้ผู้ใดดำเนินการ แล้วผู้นั้นละเลยไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อต้องดำเนินการแทนและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจำนวนที่จ่ายจริง เช่น กรณีสั่งให้เอาซากสัตว์ไปทำลาย ให้ไปล้างตลาด ผู้รับผิดชอบคือ เจ้าของสถานที่ไม่ยอมทำ แต่เจ้าหน้าที่รอไม่ได้เพราะคนอาจจะไปติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จะทำการล้างตลาดฆ่าเชื้อให้ หรือเอาซากไปตรวจแทน ก็จะทำให้ไปเรียกค่าใช้จ่ายที่เจ้าหน้าที่ทำงานแทนเจ้าของตลาดได้ เป็นต้น
“เราไม่ได้ออกมาเพื่อย้อนหลังโควิด-19 ช่วงโควิด-19 เราใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อมีประสบการณ์ ก็เรียนรู้อัตราการจ่ายมาออกกฎหมายโดยเฉพาะ บางอันเป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ถ้ารัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม ก็ประกาศราชกิจจานุเบกษา บางเรื่องเป็นกฎกระทรวงก็ใช้เวลานาน เพราะต้องเข้า ครม.ด้วย แต่คิดว่าทั้งหมดน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี”อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว