กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยเบาหวาน ระวังป่วยโรคเมลิออยด์ สามารถพบการติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในช่วงฤดูฝน เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนัง การดื่มน้ำไม่สะอาด หรือการหายใจเอาฝุ่นดินที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นต้องลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรใส่รองเท้าบูทเพื่อป้องกัน และหลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
วันนี้ (19 ต.ค.65) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคธาลัสซีเมีย จะมีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยด์สูง เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและ ในน้ำจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และทางผิวหนัง หรือการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนเข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
สถานการณ์โรคเมลิออยด์ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วย 2,314 ราย เสียชีวิต 34 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย แต่พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราตายสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการป้องกัน โรคเมลิออยด์สามารถทำได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ หลังสัมผัสดินและน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที 2.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดหรือต้มสุกทุกครั้ง 3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน 4.หากมีอาการไข้สูง ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำ ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422