วันที่ 19 ต.ค.2565 ห้องประชุมสภากทม.นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกล่าวว่า ปัญหาคนเร่ร่อนเป็นปัญหาเรื้อรังส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในเขตพระนครมีคนเร่ร่อนถึง 400 คน จากจำนวนทั้งหมด 1,656 คน แบ่งเป็นชาย 1,416 คน หญิง 240 คน 

“เขตพระนครเป็นเขตชั้นในที่สร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจำนวนมาก แต่นักท่องเที่ยวกับประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้รับความปลอดภัยเนื่องจากปัญหาคนไร้บ้าน ซึ่งมักขับถ่ายสิ่งปฏิกูลและทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ทั้งนี้คนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือคนไร้ที่พึ่งถาวรที่เต็มใจเป็นคนไร้ที่พึ่ง และคนไร้ที่พึ่งหน้าใหม่ซึ่งอาจเป็นคนตกงาน อยู่ระหว่างหางาน ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งควรมีการจัดหาที่พักให้เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นคนไร้ที่พึ่งถาวร จึงขอให้กทม.บูรณาการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถานีตำรวจท้องที่และทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา และนำบ้านอิ่มใจกลับมาดำเนินการ รวมทั้งให้เพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการปฏิบัติงานควบคุมคนไร้ที่พึ่งด้วย” ส.ก.พระนคร กล่าว

ด้านนายสุรจิต พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า เคยสอบถามคนเร่ร่อนบางคนในเขตลาดกระบังซึ่งอาศัยในพื้นที่มานานหลายปีจนเป็นที่คุ้นเคยของชาวบ้าน ได้รับคำตอบว่า “อยู่ตรงนี้สบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อยากได้รับความช่วยเหลือ” ซึ่งตนมองว่า เพราะไม่มีกฎหมายมาบังคับได้ การจะให้คนเร่ร่อนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือนำเข้าสู่ระบบต้องได้รับความยินยอมเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องการอิสระ ที่ผ่านมายังไม่มีข้อบังคับหรือหน่วยงานใดจัดการได้ และประชาชนทั่วไปต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น

ด้านนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของนางสาวศศิธร ที่ถนนจากรามคำแหงพบคนเร่ร่อนอาศัยสะพานลอยบางจุดเป็นที่หลับนอน บางรายไม่ใส่เสื้อ ทั้งนี้ เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ นอกจากคนไร้บ้านแล้ว ยังมีการขายใบกระท่อมตามริมถนนซึ่งรุกล้ำผิวจราจรบริเวณถนนเลียบวารีจากเขตมีนบุรีไปเขตหนองจอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรแก้ปัญหาควบคู่ไปด้วย

 

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้รับแจ้งเหตุเกี่ยวกับคนเร่ร่อนผ่านแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ ฟองดูว์ 389 เรื่อง ซึ่งความจริงแล้ว ปัญหาคนเร่ร่อนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแล ซึ่งตนมองว่า การแก้ปัญหานี้ต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ให้มาก เพราะในจำนวนคนเร่ร่อนทั้งหมด 1,656 คน ป่วย 83 คน ที่เหลืออาจพัฒนาได้ ส่วนคนไร้บ้านหน้าใหม่อาจเกิดจากเศรษฐกิจ ความยากจน กทม.จึงจัดพื้นที่สวัสดิการให้ เรียกว่าจุดดร็อปอิน ที่บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ซึ่งเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 08.00 - 17.00 น. เพื่อให้บริการคนเร่ร่อน เช่น ตรวจสุขภาพ ทำบัตรประชาชน บริการสุขาและห้องอาบน้ำ บริการซักผ้าอบแห้ง นอกจากนี้ ยังมีจุดลงทะเบียนสำหรับคนเร่ร่อนที่ต้องการงานทำและกลับคืนสังคมปกติ นอกจากนี้ ยังมีจุดดร็อปอินอีกหลายจุดในเขตอื่นๆ รวมถึงมีผู้สนับสนุนจากเอกชนมาร่วมกันแก้ปัญหา จุดประสงค์เพื่อจะคืนศักยภาพของบุคคลสู่สังคม