นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณี การพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่า เรื่องนี้จะต้องเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากการกำหนดค่าโดยสาร เกี่ยวข้องกับงบประมาณของ กทม.และเงินชดเชยการขาดทุนจากการจ้างเดินรถ จึงอยากขอความเห็นจากสภากรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ แต่หากสภา กทม.ยังไม่นำการพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าสู่วาระการประชุมสภากทม. ฝ่ายบริหาร จะดำเนินการออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตรา 15 บาทตลอดสายเฉพาะในส่วนต่อขยาย 2 ซึ่งจะประกาศให้ประชาชนรับทราบก่อน 30 วัน 

อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารได้ส่งข้อมูล ทั้งบันทึกข้อตกลง เอกสารสัญญาสัมปทาน และหนังสือขอความเห็นจากกระทรวงมหาดไทย ให้สภากรุงเทพมหานครประกอบการพิจารณาแล้ว แต่ขณะนี้ข้อมูลที่ฝ่ายบริหารส่งไปเพิ่งถึงสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.65) โดย หนังสือขอความเห็นจากกระทรวงมหาดไทย ส่งมายังฝ่ายบริหาร และสภา กทม.ถามมาแค่บรรทัดเดียวคือ “ความเห็นต่อคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว”

สำหรับความคืบหน้าการยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาคดีที่กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระค่าจ้างเดินรถ วงเงิน 11,754 ล้านบาท ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กรุงเทพมหานครได้ยื่นอุทธรณ์ 3 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 1.บันทึกมอบหมายส่วนต่อขยาย 2 ระหว่างกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม 2.ดอกเบี้ยส่วนต่อขยาย 1 และ 2 และ 3.ค่าจ้างที่ปรึกษาของกรุงเทพธนาคม ให้ดูรายละเอียดสูตรคิดค่าจ้างการเดินรถ 

ด้านนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า การพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ยึดตามมติ สภากรุงเทพมหานครชุดก่อน ที่ระบุให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสาร และเสนอ 3 แนวทาง ได้แก่ การใช้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ให้ดำเนินการลักษณะสัมปทาน และส่งคืนโครงการให้แก่รัฐบาล