วันที่ 18 ต.ค.2565 ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมร่างแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแนวทางการใช้คู่มือว่า การประชุมวันนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในส่วนของกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยภาพรวมแผน 3 อันดับแรกที่ กทม.ให้ความสำคัญคือ 1.เรื่องน้ำท่วม 2.เรื่องอัคคีภัย 3.เรื่องภัยแล้งและอุบัติเหตุ แต่ทั้งนี้ กทม.เปิดโอกาสให้แต่ละสำนักงานเขตเสนอปัญหาหาและแผนที่แต่ละเขตพบ ซึ่งอาจไม่ตรงกับแผนโครงสร้างหลักของกทม. เช่น บางเขตเรื่องน้ำท่วมอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับแรก แต่อาจมีเรื่องสำคัญตามบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงได้สั่งการให้เสนอแนวทางและแผนดำเนินการเพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นโครงสร้างในการปฏิบัติและเฝ้าระวังของแต่ละเขตต่อไป การจัดทำแผนโครงสร้างตามบริบทของแต่ละเขตมีข้อดีคือ เมื่อมีการโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานเขตสามารถดำเนินงานต่อเนื่องได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องสำรวจรวบรวมข้อมูลใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ แผนต่างๆ ที่ ผอ.เขตเสนอมา ต้องจัดทำแนวทางพัฒนาควบคู่มาด้วย เช่น บางเขตอาจอยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม อาจมีปัญหาเรื่องสารเคมีรั่วไหลเป็นปัญหาอันดับแรก สามารถเสนอแนวทางป้องกันและพัฒนาได้

“กรุงเทพมหานครเวลาเกิดเรื่อง ด้วยความที่เป็นเมืองที่มีการพัฒนามาส่วนหนึ่งมีมาตรการหลายอย่างช่วยปกป้องไว้ แต่เวลาเกิดเรื่องจริงๆคนที่เป็นตัวหลักคือท่านผู้อำนวยการเขต ท่านผู้ว่าฯอยากให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อำนวยการสาธารณภัยในระดับเขต สามารถบัญชาการดูแลเรื่องราวในพื้นที่ได้ จึงสั่งการให้มีคู่มือขั้นตอนพร้อมกับแผนเผชิญเหตุ ซึ่งจะพยายามรวบรวมให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว