อาศัยปราชญ์ชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เช่น ชุมชนบุญบำเพ็ญ ชุมชนคลองบางมด ช่วยเหลือเรื่องความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตของชุมชน ชูจุดเด่นของชุมชนให้เป็นจุดขายเรียกนักท่องเที่ยว โดยกทม.พร้อมให้ความสะดวกในการเดินทาง ขยะ สิ่งแวดล้อม ทางเดินเท้า แสงสว่าง ความปลอดภัย 

วันที่ 17 ต.ค.2565 ที่ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อหารือและร่วมพัฒนาแผนเศรษฐกิจสีเขียวชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีอย่างยั่งยืนว่า ชุมชนเขตฝั่งธนบุรีมีวิถีและอัตลักษณ์ดั้งเดิมเฉพาะตัว หลายชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนได้ แต่ปัจจุบัน ปัญหาหลักคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพความเป็นอยู่ จากเดิมมีการใช้คลองเพื่อระบบชลประทานเรือกสวนไร่นาและการสัญจรทางน้ำ กลับกลายเป็นใช้สำหรับระบายน้ำ มีประตูน้ำเกิดขึ้น ทำให้การสัญจรทางเรือตามวิถีชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนไป กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกเชิงกายภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อพยายามให้อัตลักษณ์ของชุมชนดั้งเดิมที่มีคุณค่าสามารถอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพเมืองได้ เช่น เรื่องการเปิดปิดประตูน้ำเพื่อให้เรือสามารถผ่านได้ รวมถึงควบคุมน้ำเค็มที่ผสมเข้ามาในคลอง ส่งผลต่อการเกษตรกรรมในชุมชนเนื่องจากต้องปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำที่เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่ในชุมชนหลายส่วนแปรสภาพเป็นบ้านจัดสรรมากขึ้น ซึ่งโจทย์ใหญ่ของกทม.คือพยายามรักษาวิถีชีวิตเดิมให้อยู่คู่กับสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงให้ได้

แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ อาศัยปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เช่น ชุมชนบุญบำเพ็ญ ชุมชนคลองบางมด ช่วยเหลือเรื่องความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตของชุมชน ชูจุดเด่นของชุมชนให้เป็นจุดขายเรียกนักท่องเที่ยว โดยกทม.จะอำนวยความสะดวกในภาพรวม เช่น การเดินทาง ขยะ สิ่งแวดล้อม ทางเดินเท้า แสงสว่าง ความปลอดภัย รวมถึงเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงและสะดวกในการเดินทางมากขึ้น เพื่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจและสภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าหลายชุมชนมีการทำที่พักรองรับนักท่องเที่ยว มีการทำฟาร์มและการเกษตรอินทรีย์ มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมชุมชนเดิมทั้งการเดินทางโดยเรือชมวิถีชีวิต อาหารประจำชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวพอสมควร จากนี้ กทม.จะมุ่งส่งเสริมชุมชนฝั่งธนบุรีเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น ให้เป็นต้นแบบขยายไปสู่ชุมชนอื่นต่อไป เพราะการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งสามารถตอบโจทย์เรื่องพื้นที่สีเขียว เรื่องเสน่ห์และอัตลักษณ์ รวมถึงสามารถตอบโจทย์เมืองน่าอยู่ได้เป็นอย่างดี