วันที่ 17 ต.ค.65 เนื่องในวันขจัดความยากจนสากล ยูนิเซฟเรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มการลงทุนในเด็กและเพิ่มมาตรการเพื่อจัดการกับอัตราความยากจนที่สูงในกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเปราะบางและทวีความเหลื่อมล้ำให้กับประชากรทุกกลุ่มในประเทศไทย แต่ครอบครัวที่มีเด็กมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยมักต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในขณะที่รายได้กลับลดลง นอกจากนี้ ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความยากจนและลงทุนในทรัพยากรมนุษย์โดยรวมของประเทศไทย
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2564 พบว่า อัตราความยากจนในเด็กสูงถึงร้อยละ 9.9 และสูงกว่าอัตราความยากจนเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ร้อยละ 6.3
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวจากโควิด19 แต่ประชากรทุกกลุ่มกลับไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเท่าเทียม หลายครอบครัวที่มีเด็กยังคงเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
“การต่อสู้กับความยากจนในเด็กจึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเพราะการแพร่ระบาดทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน แต่ยังเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ๆ และคนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะสามารถฟื้นตัวอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน และนอกเหนือจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแล้ว เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการเติบโตและความเจริญก้าวหน้าในระยะยาว”
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดอัตราความยากจน โดยประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงจากร้อยละ 67 ในปี 2529 เหลือเพียงร้อยละ 6.3 ในปี 2564 นอกจากนี้ นโยบายของรัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาพบว่า อัตราความยากจนในประเทศไทยอาจต้องเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า หากไม่มีการประกาศใช้มาตราการคุ้มครองทางสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กเพิ่มเติมแก่ครอบครัวยากจนในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาด
ตัวอย่างในอดีตชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถจัดการกับความยากจนได้ แต่ต้องลงทุนและดำเนินการมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในเด็กและมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง ยกตัวอย่างเช่น สวัสดิการที่มุ่งเน้นไปที่ประชากรเด็กจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนในประชากรทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางคิมเน้นย้ำว่า “การลงทุนในเด็กไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เราไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวหรือการสนับสนุนเด็ก เพราะจริง ๆ แล้วการเริ่มต้นที่ดีสำหรับเด็กทุกคนก็คือการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งจะเป็นการประกันอนาคตที่ก้าวหน้าของคนรุ่นต่อ ๆ ไป”