วันที่ 15 ตุลาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เปิดเผยว่า 

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาการหลอกลวงการลงทุนออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการระดมทุนที่ผิดกฎหมายนั้น

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภัยการหลอกลวงลงทุนออนไลน์ตามข้อสั่งการ

แต่ในปัจจุบันยังคงพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจากภัยออนไลน์ด้านการหลอกลงทุนเป็นวงกว้าง โดยจากสถิติการรับเเจ้งความออนไลน์ ตั้งเเต่วันที่ 1 มี.ค.65 - 30 ก.ย.65 พบว่า การหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ มีการรับเเจ้งความ จำนวน 9,915 เรื่อง หรือคิดเป็น 10.37 % จากจำนวนเรื่องรับเเจ้งความออนไลน์ทั้งหมด มีความเสียหายกว่า 5,145 ล้านบาท และสูงเป็นอับดับที่ 1 จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

ผบช.สอท. จึงได้กำชับสั่งการทุกกองบังคับการในสังกัด เร่งดำเนินการสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง ให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างการรับรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. เรียนประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการลงทุนที่ได้รับผลกำไรเกินจริง ขัดแย้งกับสภาวะเศรษฐกิจ ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล การลงทุนก็ต้องสมเหตุสมผลเช่นกัน

ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมถึง 10 กลโกง ที่มิจฉาชีพมักนำมาใช้ในการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ดังนี้

1.โฆษณาด้วยคำสวยหรู เช่น งานสบายรายได้ดี ลงทุนง่ายเห็นผลไว

2.แอบอ้างบุคลที่มีชื่อเสียง บุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นที่รู้จักในสังคม ผู้เชี่ยวชาญ

3.ชักชวนลงทุน เเต่ไม่มีสินค้า เน้นหาสมาชิกเพิ่ม การันตีผลกำไร

4.มักหลอกลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศ ทองคำ cryptocurrency เว็บพนัน

5.ใช้ความเห็นอกเห็นใจของคน หลอกผู้มีจิตศรัทธาให้ทำบุญ

6.หลอกระดมทุนให้สิทธิ์การถือหุ้นในบริษัท

7.หลอกลวงผู้ป่วย ด้วยสินค้ารักษาโรค

8.หลอกให้ฝาก และซื้อขาย cryptocurrencyในเว็บไซต์ปลอม

9.หลอกให้ซื้อ cryptocurrency สกุลใหม่ๆ แต่สุดท้ายไม่ได้เข้ากระดานซื้อขาย

10.หลอกให้จ่ายเงินให้คนที่มีเครื่องขุดเหรียญ cryptocurrency เป็นผู้ขุดให้ (ซื้อแรงขุด) แต่ไม่มีการขุดเหรียญจริง

อย่างไรก็ตาม หากท่านอยากที่จะลงทุนควรศึกษา ตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดีเสียก่อน และหมั่นติดตามข่าวสารจากทางราชการอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบหาวิธีการมาหลอกลวงประชาชนอยู่ตลอดเวลา

และหากท่านพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน ตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441 หรือ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com