เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) กทม. ได้มีการจัดงานสมัชชาองค์กรชุมชน “บทเรียนองค์กรชุมชนกับพัฒนาการของขบวนการประชาชนสู่การขับเคลื่อนนโยบายอย่างยั่งยืน” ในวาระ 30 ปีมูลนิธิชุมชนไท ทั้งนี้ภายในงานได้มีนิทรรศการ ตลาดชุมชน ผลิตภัณฑ์อาหาร ของที่ระลึก การแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการเสวนาในหัวข้อต่างๆ โดยมีชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น คนจนเมือง ตลาดสามชุก เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ พอช.กล่าวว่าจะสนับสนุนให้มีการทำฝายมีชีวิตทั่วประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูป่าไม้ และมีหลากหลายโครงการที่อยากทำร่วมกันโดย 1 ในนั้นคือโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนและธนาคารปูม้าและสัตว์น้ำต่างๆ ถ้าเราทำป่าชายเลนได้ทั่วอันดามันและอ่าวไทยก็จะเป็นผลดีในการเดินหน้าฟื้นประมงชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านรอบๆ บริเวณนั้นมีชีวิตที่ดีขึ้น
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า อีกประการหนึ่งที่อยากทำคือการแก้ปัญหาสิทธิในที่ดินเพราะชาวบ้านถูกจับและเดือดร้อนอยู่เสมอมีปัญหาคาราคาซัง อยากร่วมมือกับประชาชนจัดการแก้ไขปัญหานี้โดยขับเคลื่อนเรื่องโฉนดชุมชน ขณะเดียวกันมีโครงการที่ตั้งใจทำคือป่าชุมชนโดยรัฐบาลต้องการให้ป่ากว่า 2 หมื่นแห่งให้ชาวบ้านดูแลตั้งใจทำงานร่วมกับ พอช. นอกจากนี้จะทำเรื่องบ้านมั่นคงให้กว้างขวางขึ้น และยังมีเรื่องรัฐวิสาหกิจชุมชน สุดท้ายมีเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ในการให้สิทธิทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้อยากทำกฎหมายคนจนเพราะควรมีกฎหมายให้คนจนมีสิทธิต่างๆ ทั้งสวัสดิการชุมชน ป่าชุมชน ธนาคารชุมชน
“ผมมีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายก็จะชวนกันทำเรื่องนี้เพื่อวางรากฐานให้ชุมชนไทยถือว่าเป็นการสืบสานแนวคิดของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกฯ” ประธานบอร์ด พอช. กล่าว
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ก่อตั้งมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า หากเราจะพูดถึงมูลนิธิชุมชนไท เราต้องรำลึกถึงบุคคลอย่างน้อย 4 คน คือนายไพบูลย์ วัฒนสิริธรรม น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิโดยแต่เดิมชื่อว่ามูลนิธิชุมชนเมือง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิชุมชนไท ส่วนอีก 2 คนคืออดีตประธานและกรรมการมูลนิธิชุมชนไท ที่เป็นแบบอย่างให้กับคนทำงานอย่างยิ่งก็ คือนายบัณฑร อ่อนดำ และหม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์
นางปรีดากล่าวว่า มูลนิธิชุมชนไท ทำหน้าที่ในการเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยประสานความร่วมมือกับภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม สถาบันวิชาการ สื่อมวลชน ฯลฯ มีผลงานที่โดดเด่นเป็นโมเดลในการพัฒนาและแก้ปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง ในช่วงต้นมูลนิธิฯได้สนับสนุนเชื่อมโยงชุมชนเมืองมาทำงานร่วมกันกับภาคีต่างๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจนเกิดโมเดลการพัฒนาในด้านต่างๆ
“ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมีมากขึ้น สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยเราติดอันดับโลก ดังนั้น ถ้าจะให้สังคมเกิดความสมดุล เกิดความสงบสุข จะต้องสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนเข้มแข็ง เพื่อเป็นตาข่ายรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่มีมากขึ้น แทนที่จะออกกฎหมายลิดรอนและจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มของชุมชนและประชาสังคมในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดิฉันเห็นว่า การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมความเข้มแข็งชุมชนและประชาสังคม เท่ากับเป็นการส่งเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง” นางปรีดา กล่าว
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า งานที่เราทำทั้งหมดคือการสร้างความเข้มแข็งชุมชนให้เข้าถึงบริการของรัฐ โดยในส่วนของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เราสามารถจนแก้ปัญหาเชิงนโยบายจนมีกฏหมายคืนสัญชาติซึ่งขณะนี้คนกว่า 1 หมื่นคนได้รับสัญญาติคืน เราจึงดำเนินการต่อด้วยส่งเสริมชุมชนสุขภาวะ เพื่อดึงคนที่ติดลบสู่การพัฒนา ในส่วนของกลุ่มชาวเลที่ถูกเบียดขับจากการพัฒนา เราพยายามเพิ่มการพัฒนาชาวบ้านให้ลุกขึ้นพูดเรื่องของตัวเอง รวมถึงการพัฒนาอาชีพ การแปรรูปอาหาร เอาคุณค่าของเขามาเป็นมูลค่า
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทกล่าวว่า ในกลุ่มของชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน เราได้ใช้กระบวนการในการส่งเสริมให้พวกเขาได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันในกลุ่มของประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยพิบัติพยายามส่งเสริมให้เตรียมพร้อมในการรับมือ สร้างเครื่องไม้เครื่องมือโดยมีแผนเตือนภัย เช่น กรณีชาวบ้านที่จังหวัดอุบลฯซึ่งเกิดน้ำท่วมทุกปี ก็มีการร่วมกันสร้างเรือและจัดตั้งจิตอาสาขึ้นมาดูแลกันเอง
นายไมตรีกล่าวว่า อนาคตเราจะยกระดับบทเรียนโดยการสื่อในวงกว้างว่าต้องเดินขั้นตอนไหนบ้าง เราจะใช้สื่อในการเป็นเครื่องมือขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะเพิ่มหุ้นส่วนให้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อค้นพบแนวทางใหม่ในการพัฒนา และเราเน้นสร้างคนและผู้นำเพราะการเปลี่ยนผ่านรุ่นต่อรุ่นเป็นเรื่องยาก โดยเราจะเน้นเรื่องสานความร่วมมือ
“ขณะนี้เครือข่ายที่เราทำงานได้วิเคราะห์โครงสร้างทางการเมือง เราจะขับเคลื่อนนโยบายจากฐานเพราะการเมืองในปัจจุบันมักไม่เห็นหัวคนจน เราจะเกาะติดในเรื่องนี้ เราจะเข้าร่วมขับเคลื่อนด้วย ถ้านโยบายเปิด เราต้องไปสร้างความร่วมมือในพื้นที่ เช่น กรรมการร่วมระดับจังหวัด เราไม่ใช่ทำแต่ประเด็นร้อนอย่างเดียวแต่มีความร่วมมือในทุกระดับ” นายไมตรี กล่าว