หมายเหตุ : “ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ให้สัมภาษณ์พิเศษ รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เผยแพร่ผ่านช่องยูทูบ siamrathonline เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีสาระน่าสนใจดังนี้
- ใกล้เลือกตั้ง หมดวาระของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายกระจายอำนาจไปมากน้อยแค่ไหน
ความจริงผมก็อยู่ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นกรรมาธิการสามัญที่มีความสำคัญต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจหลายเรื่อง ล่าสุด เราขับเคลื่อนข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเองในนามของกรรมาธิการ จังหวัดจัดการตนเองแปลว่า เราอาจจะดูว่าจังหวัดไหนพร้อม กระแสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เราใช้ชื่อว่า จังหวัดจัดการตนเอง ในการเสนอเข้าสภาฯ สภาฯรับไป และเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในเรื่องนี้
คำว่าความพร้อมคือเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดนั้นๆ ให้มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ มีเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง มีการคมนาคมที่คล่องตัวสะดวก และต้องคำนึงถึงเรื่องของGDPจังหวัดนั้นๆ เพราะการที่จังหวัดจัดการตนเองเองได้ จะต้องมีรายได้ ต้องไปดูรายได้ของจังหวัด และดูความต้องการของประชาชน เป็นสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การกระจายอำนาจต้องดูเจตนารมณ์ของประชาชน นี่คือประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง เราพิจารณาเรื่องของพื้นที่ อัตลักษณ์พิเศษ เช่นพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ชายแดน พื้นที่เศรษฐกิจ ที่มีความเข้มข้น อย่างแหลมฉบัง ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือ แม่สอด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเมืองชายแดน เกาะสมุย เป็นแหล่งท่องเที่ยว ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เราพิจารณาในระดับกรรมาธิการว่าจะยกระดับเมืองท่องเที่ยว เมืองเอกลักษณ์เหล่านี้ มีความเป็นพหุวัฒนธรรมแถบภาคใต้ สามจังหวัดแต่ละจังหวัดจะยกเป็นเขตปกครองพิเศษได้ไหม ต่างจากจังหวัดจัดการตนเอง
เรื่องผู้ว่าฯที่ต้องมีสภาจังหวัด มีสภาพลเมือง เป็นโครงสร้างของจังหวัด แต่ในระดับล่างยังมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด เราจะยกพื้นที่ เช่น เทศบาลนครแม่สอด เกาะสมุย ที่อยากเป็นเมืองพิเศษ หรือทำตามความต้องการ ถ้าเราได้มีการศึกษาแล้ว น่าจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์ ในเมืองที่มีลักษณะตามที่กล่าวถึง
ประเด็นที่สาม เรามีหลายเรื่องในกรรมาธิการ บางทีมีเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรท้องถิ่นบ้าง ผู้บริหารท้องถิ่นบ้าง เราก็ทำไป แต่ในเชิงนโยบายมีสองประเด็นนี้ที่ตอบโจทย์ และเรากำลังจะเสนอให้รัฐบาลคิดเรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจเราอย่ามองแค่องค์กรปกครองท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่เราอยากจะทำอย่างไรให้การกระจายอำนาจไปถึงชุมชนและประชาชน ความเป็นพลเมือง กลุ่มองค์กรชุมชนด้วย เราก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องพูดอย่างนี้ บางอย่างเราก็ยังไม่ได้ เช่น เราเคยรณรงค์ให้รัฐบาลเพิ่มงบให้ท้องถิ่น เราได้แค่ 29.6 % ในปีนี้ ปีที่แล้วได้ 29.5 % ขึ้นไปนิดหน่อย แต่เราคาดหวังถึง 35 %
- มีการพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจตั้งแต่สมัยที่อาจารย์ยังเป็นนักวิชาการ จนถึงวันนี้ที่ได้สวมหมวกเป็น ส.ส. มองเห็นความจริงใจ ตรงนี้อย่างไร
เรื่องนี้ต้องเป็นนโยบาย ผมพูดในฐานะนักวิชาการ ที่ถูกเชิญมาให้ความรู้กับประชาชน บุคคลทั่วไป การกระจายอำนาจจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ หรืออินโดนีเซีย มี 3 เงื่อนไข ตามหลักการ 1. หัวหน้ารัฐบาลต้องเอาด้วยไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี คนมีอำนาจจะต้องฟันธงว่าจะทำเรื่องนี้ 2. พรรคการเมืองทุกพรรค หรือ ส.ส.ในสภาฯ 500 คน อย่างน้อย 80 % จะต้องเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ และ3. ส.ส. พรรคการเมืองทุกพรรค,ผู้นำรัฐบาล, องค์กรในส่วนราชการ และประชาชน ผมคิดว่าหลักการนี้บ้านเรายังขาด ผู้นำรัฐบาลอาจจะไม่เต็มที่ หรือไม่เต็ม100 อาจจะครึ่งๆกลางๆหรืออาจไม่สนใจ พรรคการเมืองทุกพรรคยังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการกระจายอำนาจ ทำให้ไปไม่ได้ ส่วนราชการยังครึ่งๆกลางๆว่าจะไปหรือไม่ไป ภาคประชาชนเองก็เข้าใจการกระจายอำนาจไปคนละทิศละทาง หรือการมีส่วนร่วมยังไม่มากพอ
ผมเป็นอาจารย์ นักวิชาการและทำงานเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น มองว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานประชาธิปไตย ที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่รากหญ้า ตั้งแต่ประชาชน การศึกษาในระบบการศึกษา ค่อยยกระดับขึ้นมาสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อน แต่หากถามว่าผมคาดหวังมากไปหน่อยหรือเปล่า ผมคาดหวังมาก ผมมาสู่การเมืองอย่างมีความหวัง ผมไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจ อันนี้ชัดเจน
การรวมศูนย์อำนาจไม่ตอบโจทย์ประเทศ เราให้ราชการ ทำงานก็ถูก แต่ประสิทธิภาพเห็นอยู่ ว่ายังไม่ตอบโจทย์ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาปากท้อง ความยากจน กลุ่มเปราะบางทั้งหลายที่ยังเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่ใช้คำว่าเหลื่อมล้ำ มีช่องว่าง สิ่งนี้คือประเด็นหลักของประเทศ แต่เราจะให้ใครแก้ ถ้าให้ส่วนกลางแก้ รัฐบาลแก้ รวมศูนย์อำนาจแก้ มันยังไม่ตอบโจทย์ ผมจึงหวังว่าต้องเปลี่ยนมุมใหม่ในการแก้ปัญหาประเทศ ฝากความหวังไว้กับท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องไปแก้คุณภาพชีวิตของประชาชน ท้องถิ่นต้องไปแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ท้องถิ่นต้องไปแก้เรื่องความยากจน ชีวิตและปากท้องของประชาชน ตรงจุดที่สุด
ผมคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลต้องกล้าที่จะเปลี่ยนมุม ให้ท้องถิ่นแก้ไขแทน กระจายอำนาจไปให้ชุมชนและท้องถิ่นแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น ผมจึงยังผิดหวังอยู่ ถ้าพูดตรงๆ ผมอยากเห็นประเทศเปลี่ยนมุม
ในส่วนของตัวท้องถิ่นเองต้องตระหนักว่า เขามอบอำนาจไปแล้ว คุณต้องทำให้โปร่งใส คุณต้องมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งท้องถิ่นส่วนหนึ่งก็ทำอยู่ แต่บางส่วนยังไม่ทำ สิ่งเหล่านี้ ค่อยๆปรับได้ ไม่มีอะไร 100 % แต่การปรับอาจจะต้องยืดหยุ่น งบประมาณของประเทศ 3.185 ล้านล้านบาท ในปี 2566 อยู่ที่ส่วนราชการ ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท แต่อยู่ที่ท้องถิ่นประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท พอแยกสัดส่วนแบบนี้แล้ว ดูเหมือนส่วนราชการจะเก็บไปหมด เงินพัฒนาประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท ที่อยู่กับส่วนราชการซึ่งไม่ค่อยตอบโจทย์ ถ้าคิดมุมใหม่ ใช้วิธีคิดแบบชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด เป็นตัวตั้ง ส่วนราชการ 60% ต่อท้องถิ่นและจังหวัด 40% จังหวัดยังได้งบน้อยสำหรับแก้ปัญหาตามแผนพัฒนาจังหวัด หากให้ท้องถิ่น 35% และจังหวัดอีก 10% ของงบประมาณ ต่อส่วนราชการ 55% จะทำให้การถ่วงดุลในการทำงานเกิดขึ้น
หากเป็นแบบนี้แล้ว ลองตรวจสอบดูว่าท้องถิ่นจะทำอย่างไร และในส่วนของจังหวัดที่ได้รับไปแล้ว ผู้ว่าฯจะต้องขับเคลื่อนด้วยแผนพัฒนาจังหวัด เรายังไม่ได้ใช้การทำงานที่เรียกว่า ปัญหาและความต้องการของประชาชน ที่มาจากแผนพัฒนาจังหวัด และรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่จังหวัด แต่ท้องถิ่นจจะต้องทำเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ให้ตอบโจทย์ตามสิ่งที่ผมกล่าว ลองแก้ดู เพราะตามหลักที่เราเรียน เราสอนหนังสือมา มองว่าการกระจายอำนาจต้องดีกว่าการรวมศูนย์อำนาจ คุณภาพชีวิตของท้องถิ่นในการจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมบริการสาธารณะต้องดีกว่าส่วนราชการ อยากให้ท้องถิ่นได้ทำและทำให้ดีกว่า จากนั้นมาดูกันว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้
- การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ทำให้ส่วนกลางและประชาชนมองเห็นอะไรบ้างหรือไม่
การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับตำแหน่ง เป็นเพราะบุคลิกและเสน่ห์ของตัวผู้ว่าฯ และสามารถปลุกกระแสในเรื่องของการกระจายอำนาจได้ดี เมืองพัทยาก็เช่นเดียวกัน ตอบโจทย์เรื่องผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง สัมผัสประชาชน ติดดิน เดินไปหาประชาชน มีกิจกรรมการมีส่วนร่วม รับฟังปัญหา ทุกเวลา ตรวจสอบปัญหาและติดตามผล ตอบโจทย์และแตกต่างจากผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้ง ถ้าผู้ว่าฯแต่งตั้งทำเหมือนผู้ว่าฯเลือกตั้ง ก็ดี
แต่กระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯเกิดขึ้นเพราะเขาเห็นว่า ผู้ว่าฯแต่งตั้งสัมผัสยาก กว่าจะได้พบประชาชน ถึงเวลาหมดวาระก็ไป ยิ่งใกล้จะเกษียณก็ไม่ทำงาน เกียร์ว่างแล้ว แต่ผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าใกล้หมดวาระ จะต้องไหว้ประชาชน ต้องมีผลงาน สิ่งนี้คือความแตกต่าง ผมไม่ได้ว่าผู้ว่าฯแต่งตั้งไม่ดี แต่ผู้ว่าฯแต่งตั้งต้องมีการเปลี่ยนมุมการทำงานใหม่ ลงไปพบประชาชน ไปนำปัญหามาแล้วคิดตอบโจทย์
จุดแตกหักของการพัฒนาไม่ได้อยู่ที่ราชการส่วนกลาง แต่อยู่ที่จังหวัด เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯเป็นสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์ ลองดูสิว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯดีกว่าการไม่เลือกตั้งผู้ว่าฯไหม ทดลองดูจากจังหวัดที่มีความพร้อมสัก 10 จังหวัดไหม
- มีการตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ ส่วนกลาง กระทรวงมหาดไทยหรือแม้แต่หัวหน้ารัฐบาลเองไม่อยากให้มีการกระจายอำนาจออกไป ต้องการให้เป็นระบบรวมศูนย์เหมือนเดิม
สิ่งนั้นอาจจะมีส่วน อยากให้ทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี ส่วนราชการ มองเชิงบวกว่าปัญหาประเทศจะแก้อย่างไร ใครจะแก้ บริการสาธารณะที่ดี ควรจะอยู่ที่ไหน คุณภาพชีวิตปากท้องของประชาชนควรให้ใครทำ ต้องแบ่งให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำเรื่องอะไร ท้องถิ่นจะทำเรื่องอะไร ชุมชนจะช่วยรัฐบาลเรื่องอะไร จังหวัดที่ต้องการเลือกผู้ว่าฯจะทำอะไร ถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนให้ชัดเจน ทุกวันนี้น้ำท่วมครั้งหนึ่ง ไม่ทันไรก็ลามไปถึงจังหวัดอื่นแล้ว ส่วนราชการเอง ที่มีหน้าที่ในเรื่องของการจัดการน้ำ มีไม่รู้ตั้งกี่กรม กี่กระทรวง แต่ไม่มีเอกภาพ ถึงเวลาที่ต้องมาบูรณาการกัน
ปัญหาที่เราคุยกันวันนี้ คือ ประชาชนจะได้รับบริการสาธารณะที่ดีได้อย่างไร ปากท้องของประชาชนจะดีขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าฝากความหวังไว้ที่ท้องถิ่น ผมว่าทำได้ ผมเคยเสนอในกรรมาธิการงบประมาณว่า ทำไมกระทรวงมหาดไทยจึงไม่มีการประเมินผู้ว่าฯเหมือนเอกชน ประเมินแต่ละจังหวัด จัดนดับในแต่ละด้าน ทำให้ผู้ว่าฯตื่นตัว เช่นในญี่ปุ่นเขาก็ประเมินว่า ผู้ว่าคนนี้เข้ามาทำหน้าที่แล้วแก้ปัญหาเรื่องความจนดีขึ้น จากอันดับสิบขึ้นมาอันดับห้า ความจนค่อยๆหายไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังพูดกันต้องมองเรื่องประเทศชาติเป็นหลัก ว่าประเทศเราควรจะเดินต่อไปด้วยหลักอะไร ที่จะทำให้การพัฒนามีความสมดุล ไม่เหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตประชาชนดี ปากท้องดี การคิดแบบนี้ไม่มีการเมือง
หากคิดในแบบการเมืองมันไปไม่ได้ อย่าคิดว่าใครดีกว่าใคร ทำให้ดีที่สุด ผู้ว่าฯแต่งตั้งก็ต้องปรับตนเองให้เป็นอย่างผู้ว่าฯเลือกตั้ง เข้าหาประชาชน ลงไปดูปัญหา เอาแผนพัฒนาจังหวัดมากาง ผมยินดี ผมอยากให้งบประมาณจังหวัดเต็มๆ 500 ล้านทุกจังหวัดลองแข่งกันดู จังหวัดไหนแก้จนได้ จังหวัดไหนลดความเหลื่อมล้ำได้ จังหวัดไหนสร้างอาชีพได้ จะได้ดูความคิด ดูวิสัยทัศน์ ดูเป้าหมายของผู้ว่าฯ
ท้องถิ่นก็เช่นกัน หากให้งบไปเต็มๆแล้วก็ลองแก้กันดู บ้านเมืองถึงจะเปลี่ยน ส่วนราชการก็ยังอยู่เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นในการสนับสนุนจังหวัด สนับสนุนท้องถิ่น เรื่องงบประมาณไม่อยากให้ส่วนราชการของส่วนกลางไปล้วงลึกถึงชุมชนท้องถิ่น ผมอยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปและเปลี่ยนมุม การกระจายอำนาจจะเป็นตัวตอบโจทย์ประเทศ
- ในส่วนของพรรคพลังท้องถิ่นไทที่ชูธงเรื่องการกระจายอำนาจและเรื่องการพัฒนาส่วนท้องถิ่นมาตลอด อยากให้ฝากอะไรถึงการเลือกตั้งรอบหน้า
ผมคิดว่ามันต้องเป็นไปอย่างที่ผมพูดไปแล้ว หนึ่งหากคิดว่าประเทศที่มีอำนาจรวมศูนย์ไม่ดี อยากเรียกร้องทุกพรรค ไม่ใช่เพียงแค่พรรคพลังท้องถิ่นไท แต่ทุกพรรคต้องชูธงด้วย เพราะอย่างที่พูดในตอนแรกว่า การกระจายอำนาจจะสำเร็จได้ ไม่ได้อยู่ที่พรรคใดพรรคหนึ่ง อยู่ที่ทุกพรรคต้องชูเรื่องการกระจายอำนาจจึงจะมีอิมแพ็คเกิดขึ้น
สอง เราคิดว่าจังหวัดที่มีความพร้อมควรจะชูธงเลือกผู้ว่าฯ หากพร้อมแล้วก็ลองดู อาจจะลองสัก 10 - 15 จังหวัดพร้อมๆกัน งบประมาณท้องถิ่น 35% ก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน ใครมาเป็นนายกฯก็ต้องทำ เมื่อผมคิดแบบนี้ ผมจึงมองว่า ไม่ว่าพรรคไหนจะเก่งแทบตาย แต่ถ้ามีพรรคเดียวก็คงไม่พอ เว้นเสียแต่คุณได้เสียงขาด แต่ผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีพรรคใดได้เสียงขาดแบบแลนด์สไลด์แน่นอน