ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

มีธรรมชาติหลายอย่างที่เรายังไม่เข้าใจ จึงไม่ควรตีความธรรมชาติผิด ๆ โดยเฉพาะ “ธรรมชาติในความเป็นคน”

น้องนายตอนแรกคลอดก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ร่างกายก็อ้วนท้วนจ้ำม่ำออกจะโตเกินเด็กแรกคลอดโดยทั่วไปบ้าง ทั้งยังเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่ร้องโยเยแม้ในเวลากลางคืน กินนมเยอะและหลับได้นาน ๆ พอสัก 5 เดือนก็พลิกตัวได้ ลำคอผงกขึ้นเองได้ แบบที่โบราณเรียกว่า “คอแข็ง” เดือนต่อมาก็เริ่มคลาน ให้อุ้มเดินได้รอบบ้าน พอสักขวบหนึ่งก็เริ่มตั้งไข่ยืนขึ้นได้ชั่วครู่แล้วก็ล้มลงนั่ง ที่เรียกว่า “ล้มลุก” พอสักขวบครึ่งก็โผวิ่งไปหาคนโน้นคนนี้ได้ มีเสียงหัวเราะกิ๊ก ๆ กั๊ก ๆ ดูน่ารักเหมือนเด็กเล็ก ๆ ทั้งหลาย

ในตอนที่น้องนายอายุได้ขวบครึ่งนี้เอง คนในบ้านก็เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ เริ่มจากแม่ของวันทนีย์ที่เป็นยายก็เอะใจว่า น้องนายน่าจะพูดอะไรได้บ้างแล้ว เช่น เรียกพ่อเรียกแม่ หรือหมาแมวในบ้าน แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรออกจากปากน้องนายเลย วันทนีย์ลองถามคนที่รู้จัก บางคนบอกว่าอาจจะหูฟังไม่ได้ยิน วันทนีย์เลยพาไปหาหมอ หมอก็นัดมาทำการทดสอบการฟังเสียง ผลออกมาก็ปกติ หมอเลยทดสอบการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น เอาภาพให้ดู ชวนเล่นของเล่น ฯลฯ ก็พบว่าน้องนายไม่สนใจ และชอบเล่นอยู่กับผ้าห่มและตุ๊กตาผ้า วันหนึ่งหมอก็ให้มาทดสอบเชาว์ปัญญาสำหรับเด็กขวบครึ่งถึงสองขวบ ก็พบว่าน้องนายมีเชาวน์ปัญญาน้อยกว่าเด็กทั่วไปในวัยนี้ หมอจึงสรุปว่าน้องนายน่าจะเป็น “ออทิสติก” พูดภาษาชาวบ้านว่าเป็น “เด็กปัญญาอ่อน” แล้วขอให้นำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเป็นระยะ

เมื่อวันทนีย์บอกให้น้องเอื้องลูกที่เกิดจากสามีคนแรกให้ช่วยดูแลน้องนาย ก็สังเกตเห็นว่าน้องเอื้องมีทีท่ารังเกียจน้องนายเอามาก ๆ แรก ๆ ก็คิดไปว่าคงเป็นเพราะเป็นน้องต่างพ่อ ต่อมาก็น่าจะเป็นเพราะความเป็นเด็กปัญญาอ่อนของน้องนายนั้นด้วย แต่พอสังเกตดูจริง ๆ ก็เห็นว่าน้องเอื้องก็ยังพยายามพูดคุยกับน้องนายอยู่เหมือนกัน เช่น ตอนที่น้องเอื้องกลับมาจากโรงเรียน ก็เอาหนังสือมาอวดและพยายามอ่านให้น้องนายฟัง แม้ว่าน้องนายจะไม่สนใจฟังหรือออกเสียงตามที่พี่สาวพยายามจะให้ทำตามนั้น ทว่าพอให้อุ้มน้องหรืออาบน้ำแต่งตัวน้อง คนเป็นพี่สาวก็ออกอาการขัดขืนหรือทำแบบขอไปที พอวันทนีย์สังเกตเห็นบ่อย ๆ ก็เลิกเคี่ยวเข็ญ และให้น้องเอื้องไม่ต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ชอบนั้น

พอน้องนายอายุได้ 3 ขวบ หมอก็แนะนำให้พาไปเนิร์สเซอรี่ที่ดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งที่ในจังหวัดพิษณุโลกไม่มี น้องนายจึงต้องไปที่เนิร์สเซอรี่ของเด็กเล็กทั่วไป แต่ให้เขาแยกดูแลเป็นอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก ซึ่งก็มีเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นเด็กพิเศษนี้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากนัก และแม้ว่าจะมีกันอยู่แค่สองคน แต่ก็เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ยิ่งเวลาที่ครูพี่เลี้ยงพยายามจะให้ทำอะไรด้วยกัน ทั้งสองคนก็จะส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดคล้ายโกรธขึ้งทะเลาะกัน ดีที่ว่าไม่ถึงขั้นที่จะทำร้ายกัน วันทนีย์เองพอทราบว่าลูกตัวเองแสดงอาการก้าวร้าวบ่อย ๆ ก็กลัวว่าจะไปทำร้ายเด็กคนอื่น พอไปอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือนก็ขอเอาน้องนายกลับมาเลี้ยงที่บ้าน

คนที่ช่วยวันทนีย์ดูแลบ้านก็มีเพียงแม่บ้านแก่ ๆ ที่อยู่กันมานานตั้งแต่ที่แม่ของวันทนีย์แต่งงานกับพ่อ ซึ่งอายุก็ย่าง 60 ปี กับญาติของแม่บ้านอายุไล่ ๆ กับวันทนีย์ ที่มีลูกติดเป็นผู้หญิงอายุเข้าเขตวัยรุ่นและกำลังเรียนชั้นมัธยมต้นอีก 1 คน ทั้งสามคนช่วยกันทำงานบ้าน ตั้งแต่ทำกับข้าว ทำความสะอาด ซักผ้า เลี้ยงหมาแมวที่มีอยู่อย่างละ 2 ตัว และรดน้ำต้นไม้ โดยลูกวัยรุ่นของญาติของแม่บ้านเก่าแก่ที่ชื่อว่า “ยุพิน” ก็ได้ช่วยมาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลและเป็นเพื่อนเล่นของน้องเอื้องมาตั้งแต่เล็ก ๆ รวมทั้งช่วยมาดูแลน้องนายในบางครั้งด้วย แต่เป็นเพราะว่าน้องนายไม่เหมือนเด็กปกติและไม่สนใจใคร ทำให้ยุพินสนิทสนมกับน้องเอื้องมากกว่า แม้ว่าเด็กทั้งสองคนนี้จะมีอายุห่างกันกว่า 5 ปี แต่ว่ายุพินเป็นคนตัวเล็ก ในขณะที่น้องเอื้องเป็นคนตัวโต จึงดูไม่ค่อยต่างวัยกันมากนัก

ยุพินได้เรียนในโรงเรียนของเทศบาล ส่วนน้องเอื้องได้เรียนที่โรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ตอนที่น้องเอื้องเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล ยุพินก็ขึ้นชั้น ป. 2 แม่ของยุพินมีหน้าที่พาเด็กทั้งสองไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน โดยนั่งรถสามล้อไปส่งและรับกลับทุกวัน  พอยุพินขึ้นชั้น ม.1 และน้องเอื้องขึ้นชั้น ป.3 วันทนีย์ก็ซื้อจักรยานให้ยุพินหนึ่งคัน แล้วให้ขี่พาน้องเอื้องไปส่งและรับกลับจากโรงเรียน เด็กทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันมาก น้องเอื้องนั้นด้วยความที่เป็นเด็กตัวโตพอ ๆ กันกับยุพินที่มีอายุมากกว่า จึงชอบทำท่าว่าเป็นบอดี้การ์ดของยุพิน ยิ่งยุพินเป็นเด็กขี้อายและไม่สู้คน น้องเอื้องก็ชอบที่จะแสดงการปกป้องอย่างออกหน้า และด้วยความที่น้องเอื้องนั้นมีฐานะเป็นเจ้านายอยู่กลาย ๆ จึงชอบที่จะเป็นเจ้ามือ ซื้อน้ำซื้อขนมให้ยุพินได้กินด้วยอยู่เป็นประจำ และบางทียุพินที่เป็นแค่ลูกจ้างคนหนึ่งอยากได้โน่นได้นี่ตาประสาเด็กวัยรุ่น น้องเอื้องที่ได้ค่าขนมในแต่ละวันมากพอสมควร ก็เป็นคนดูแลคอยจ่ายเงินให้เสมอ

นิสัยของน้องเอื้อง แบบที่เรียกด้วยภาษาของคนสมัยนี้ว่า “สายเปย์” ได้แสดงให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะแต่ที่ทำกับยุพิน เพราะน้องเอื้องได้ทำอย่างนี้กับเพื่อนผู้หญิงคนอื่น ๆ ด้วย พอน้องเอื้องย่างเข้าวัยรุ่นขึ้นชั้น ม.1 โดยย้ายเข้าไปเรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ในขณะที่ยุพินก็สอบเอนทรานซ์เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ในกรุงเทพฯ แต่น้องเอื้องก็ไม่ได้มีชีวิตที่เงียบเหงา เธอขอวันทนีย์ให้ซื้อจักรยานใหม่เพื่อปั่นไปโรงเรียน ความจริงนั้นเธออยากจะขอได้มอเตอร์ไซค์ แต่อายุยังไม่ถึงที่จะมีใบขับขี่ เธอจึงอดใจรอจนกว่าจะถึงมัธยมปลาย กระนั้นเธอก็ใช้จักรยานคันสวยของเธอเที่ยวรับส่งเพื่อนคนโน้นคนนี้อยู่ทุกวัน รวมถึงชอบที่จะซื้อของกินไปฝากเพื่อน ๆ อยู่เป็นประจำ และในหลาย ๆ โอกาสก็ชอบที่จะเป็นเจ้ามือเลี้ยงวันเกิดให้เพื่อน ๆ ทำให้น้องเอื้องได้ชื่อว่าเป็น “คนเนื้อหอม” ที่สุดในโรงเรียนนั่นเลยเชียว

โรงเรียนของน้องเอื้องอยู่ใกล้กับวัดใหญ่หลวงพ่อพระพุทธชินราช ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำน่านมีโรงเรียนการช่าง ที่เรียกง่าย ๆ ว่า “พวกช่างกล” พวกนี้ชอบที่จะข้ามมาชุมนุมกันที่สะพานหน้าวัด พอเวลาเลิกเรียนมีคนผ่านไปผ่านมาถ้าเป็นสาว ๆ ก็จะได้ยินเสียงพวกช่างกลนี้ผิวปากเสียงวี๊ดวิ้วดังสอดรับกันเป็นระยะ ๆ วันหนึ่งน้องเอื้องถีบจักรยานไปกับกลุ่มเพื่อน ๆ 4-5 ค้น พอผ่านสะพานก่อนที่จะถึงวัดก็ได้ยินเสียงเป่าปากเป็นเสียงนกร้องนั้นดังออกมาจากกลุ่มพวกช่างกล น้องเอื้องให้เพื่อน ๆ จอดจักรยานแล้วหันไปทางกลุ่มช่างกลที่อยู่ไม่ไกลนัก พร้อมกับพูดขึ้นว่า “ใครมีพ่อเป็นนกวะ” ทำเอาพวกช่างกลเงียบกริบ จากนั้นชื่อเสียงของน้องเอื้องด้าน “ความห้าว” ก็มาพร้อม ๆ กับ “ความหล่อ” และ “ใจถึง”

เป็นชื่อเสียงที่เลื่องลืออยู่ในหมู่นักเรียนหญิงทั้งโรงเรียน ที่ยิ่งทำให้น้องเอื้องภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ผู้หญิงคนหนึ่ง”