ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

ประเทศไทย หลังการปฏิวัติในช่วงปีพ.ศ.2501...ว่ากันว่า ได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคพัฒนา”...อันเป็นยุคที่มีแนวนโยบาย ในการมุ่งสร้างความเจริญเชิงวัตถุ แต่การณ์กลับเป็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศของเรากลับต้องรู้เรื่องราวของผู้ก่อการร้าย...เรื่องของสงครามเวียดนามที่ก่อตัวและขยายเป็นวงกว้างขึ้น และทหารไทยก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามตรงช่วงเวลานี้ด้วย...

ทั้งๆที่แนวนโยบายของประเทศ ระบุไว้อย่างเด่นชัดว่า..จะต้องเป็นไปในความเจริญทางวัตถุนิยม...แต่ผลกระทบโดยรวมจากภาวะแวดล้อมรอบข้างกลับทำให้ “ความเจริญที่คาดหวัง”ต้องพลิกผันไปตกอยู่ในมือจำเพาะกลุ่มชนบางพื้นที่ โดยเฉพาะความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอันถือเป็น “หัวใจสำคัญ” แห่งโครงสร้างของแนวนโยบายแห่งชาติ...จนเกิดเป็นภาวะทรุดโทรมทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมขึ้น...

ปัญหาในเงื่อนไขดังกล่าวนี้...ยังส่งผลไปถึง ปัญหาในด้าน.. “ช่องว่างระหว่างบุคคล” ทั้งในด้านสถานะทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงประเด็นของความละเอียดอ่อน...นับแต่ในมิติของ วัย/การศึกษา/หรือ แม้แต่ความคิด...

สิ่งอันเป็นปัญหาเหล่านี้..ทำให้คนรุ่นใหม่ของไทย ณ เวลานั้น..มองเห็นถึงสิ่งที่ตัวเองขาดหายไป..เริ่มมีความกระวนกระวายใจ..จนที่สุดก็ได้ตัดสินใจค้นหา.. “สิ่งที่ขาดหายไป” นั้น...เพื่อมาเติมชีวิตให้เต็ม..

พวกเขาเหล่านั้น...เริ่มแสวงหาบทบาทอันแท้จริง รวมทั้งความหมายของตนที่มีต่อสังคมด้วย...หวังปรารถนาที่จะเห็นชีวิต...ได้มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน..และสังคมที่ตนมีชีวิตอยู่ ไร้สิ่งเลวร้ายที่น่าสะพรึงกลัว..

ดูเหมือนว่าความคิดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกในตอนนั้น...จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด...ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขในเชิงปฏิบัติหรือการยอมรับนับถือกันก็ตาม...

ปีพ.ศ.2514 “ฉันจึงมาหาความหมาย”...รวมงานประพันธ์แห่งยุคสมัยของ “วิทยากร เชียงกูล”...ถือเป็นผลงานที่ก่อเกิดขึ้นมาในช่วงต้นๆของการเปลี่ยนแปลงความคิดทางสังคมการเมืองของสังคมไทย..เรื่องสั้น บทละคร และ กวีนิพนธ์ของเขาล้วนต่างแสดงประเด็นแห่งเนื้อหาสาระ โดยพุ่งเป้าเพื่อเข้ากระทบอารมณ์คนอ่านและผู้สัมผัสร่วม อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง..โดยเฉพาะความโดดเด่นในเชิงของการแสดงความรู้สึกนึกคิดของเขา..ที่มีต่อสภาพแวดล้อมและสังคมที่เขามีชีวิตอยู่...เป็นการประกาศ “ความรู้สึกใหม่” ของคนร่วมสมัย ซึ่ง “เสถียร จันทิมาธร” ได้เคยกล่าวถึงไว้ใน “รุกถอยหลัง” ว่า......ผลงานเขียนแห่งความรู้สึกใหม่ของคนร่วมสมัยดังกล่าว.. “เป็นผลผลิตของอารมณ์และความคิดที่จะยืนยันว่า...พวกเขาจะหวังในความกระตือรือร้น ความปรารถนาดีต่อโลก และต่อชีวิตของพวกเขา ได้มากน้อยเพียงใด”

“วิทยากร เชียงกูล” ได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเขาสู่ผู้อ่าน ในลักษณะที่ใช้ทั้งรูปแบบและเนื้อหาให้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกออกจากกันได้ยาก...รูปแบบในประพันธกรรมของเขา มีความสำคัญเหมือนเป็นท่วงทำนองของการแสดงออก และในส่วนของเนื้อหา ถือเป็นประกาศของความคิดที่ยิ่งใหญ่...รูปแบบและเนื้อหาของนักเขียนแห่งยุคสมัยเมื่อครานั้นจึงต้องเชื่อมต่อกัน...

“รูปแบบเป็นเหมือนสะพานที่ทอดไปยังเนื้อหา..เป็นความต้องการหรือความปรารถนาที่คนเขียนหนังสือกำหนดไว้”

“เรื่องสั้น” ที่ปรากฏใน “ฉันจึงมาหาความหมาย”...นับเป็นเรื่องสั้นที่มีรูปแบบไม่เหมือนกับเรื่องสั้นในสมัยดั้งเดิมก่อนหน้านั้น...ด้วยว่ามีลักษณะเป็นงานเขียนที่ “ไม่ถือโครงเรื่อง” เป็นสำคัญ(No Plot)...คล้ายกับงาน “คนดำน้ำของ นิคม รายวา” หรือ “เรื่องของหล่อน” ของ “รุยงค์ เวนุรักษ์”...ซึ่งนักเขียนที่ได้กล่าวถึงนี้...ล้วนเป็นนักเขียนแห่งยุคสมัย...ในช่วงต้นๆด้วยกันทั้งสิ้น...

“วิทยากร” มักใช้ตัวเอกในเรื่องสั้นของเขา...เป็นตัวแทนความคิดในเรื่อง ตัวละครเหล่านี้มักใช้สรรพนามว่า..ผม/หรือ ฉัน/...เป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมดในลักษณะของการใช้ “กระแสสำนึก”(Stream of Conciousness)..ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง... “นิยายของชาวมหาวิทยาลัย”/ “ถนนที่นำไปสู่ความตาย” /หรือ “ไฉนเลยจะรู้ได้”/..

ในอีกส่วนหนึ่งเขาใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับ(Flash Back)โดยให้นึกถึงเหตุการณ์ของอดีตผ่านข้อความทางจดหมายอย่างเช่นในเรื่อง “ข่าวร้ายจากภูเขา”..และสำหรับเรื่องสั้น “บทสนทนาทางโทรศัพท์ในค่ำคืนแห่งความว้าเหว่” ...ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตีค่าว่าเป็นกลวิธีที่นับว่าใหม่ที่สุด..ที่ถูกใช้ในวงวรรณกรรม ณ ขณะนั้น..ด้วยการใช้บทสนทนาโต้ตอบกันทางโทรศัพท์ของตัวละครสองตัวเป็นการดำเนินเรื่องโดยไม่มีบทบรรยายหรือพรรณนาใดๆแทรกอยู่เลย...

ส่วนในบทละครที่นำเสนอไว้..ก็เป็นสาระเรื่องราวที่สะท้อน “ภาวะทางความคิด” ของ “วิทยากร” ออกมาทั้งหมด นับแต่ “ฉันเพียงแต่อยากออกไปข้างนอก” หรือ “นายอภัยมณี”...บทละครทั้งสองเรื่องนี้ได้แสดงทรรศนะผ่านกระบวนการตีความหมายใหม่...ในประเด็นความเชื่อถือบางประเด็นที่ผูกติดกันมา นับแต่อดีตจนกลายเป็นรูปลักษณ์แห่ง “จารีตนิยม”

สำหรับ “กวีนิพนธ์”...ได้มีการนำเสนอทั้งในลักษณะร้อยกรอง “มีสัมผัส”/และลักษณะของกลอนเปล่า “ปลอดสัมผัส”...กวีนิพนธ์ทั้งหมด จะถ่ายทอดความคิดต่างๆเป็นบทสรุปของสาระที่ไม่ยืดยาวนัก...บรรยากาศและสีสันของการเขียนเป็นไปด้วยกลิ่นอายของอุดมคติ...ไม่ว่าจะเป็นภาวะความรู้สึกในการต่อต้านสงคราม /สภาพชนชั้นของสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน/การเรียกร้องมนุษยธรรมเพื่อคนจนในชนบท...รวมทั้งทรรศนะความคิดเชิงขัดแย้งกับเงื่อนไขในระบบของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน..

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว” (เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน)

อย่างไรก็ดี...งานประพันธ์ของวิทยากร...ไม่ว่าจะอยู่ในประเภทใดก็ตาม เนื้อหาจะมีลักษณะที่โดดเด่นร่วมกับทางด้านรูปแบบอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะการตั้งชื่อ..ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่อง ชื่อตัวละคร และ ชื่อสถานที่..

การตั้งชื่อของเขานับเป็นต้นแบบที่ไม่มีใครเหมือน ..ผิดไปจากนักเขียนคนอื่นๆในยุคสมัยเดียวกัน..ส่วนใหญ่แล้วเขามักจะตั้งชื่อโดยการยึดเอาสาระของเรื่อง(Theme)เป็นหลักสำคัญ...เขาอาจจะใช้ถ้อยคำง่ายๆ หรือไม่อย่างนั้น ก็จะใช้ถ้อยคำที่เป็นวลีค่อนข้างยาว แต่กินความหมายชวนให้น่าสนใจและน่าติดตาม เช่นในชื่อเรื่อง “เหมือนอย่างไม่เคย”/ “อีกวันหนึ่งเธอจะได้พบ”/หรือ “ลำธารสายที่ไหลกลับ”

ส่วนชื่อตัวละคร..เขาก็มักจะใช้สรรพนามบุรุษที่ 1..โดยไม่ระบุถึงชื่อเสียงเรียงนามที่เคยคุ้น หรือ ระบุถึงสถานะของ ชื่อ-สกุล ตามความเป็นจริง(Untitle-Hero)

ตัวละครในบทละคร “งานเลี้ยง” ใช้ชื่อตามลำดับพยัญชนะคือ..ก ข ค ง ไล่เรียงกันไป..ซึ่งก็คล้ายๆกับตัวละคร “ฉันเพียงแต่อยากออกไปข้างนอก” ที่ใช้ชื่อตามลำดับของตัวเลขคือ”นักโทษคนที่1/2/3/โดยลำดับ....การตั้งชื่อในลักษณะนี้.อาจหมายถึงว่า “วิทยากร” ต้องการที่จะใช้ให้ตัวละครที่มีชื่อในลักษณะดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของใครก็ได้ในสังคม ที่อาจมีทั้งบุคลิก และ อุปนิสัยคล้ายกับตัวละครแต่ละตัวเหล่านี้..

นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อตัวละครในลักษณะที่เป็น “ความหมาย” ของการเสียดแทงความรู้ของคนในสังคมสมัยใหม่...ที่ยังคงหลงใหลได้ปลื้มกับอะไรบางสิ่งที่เหมือนกับเป็น “ภาพมายาแห่งความจอมปลอม” ที่ควรสูญสิ้นไป.. “เกียรติยศ” กับ “มั่งคั่ง”...ถูกใช้เป็นชื่อของตัวละครในบทละครเรื่อง “ฉันเพียงแต่อยากออกไปข้างนอก”/อันเป็นสัญลักษณ์ของการประชดประชัน “อาจารย์มหาวิทยาลัย” ว่าเป็นผู้ที่มีทั้งเกียรติยศและความร่ำรวย อีกทั้งยังสื่อนัยถึง “นักศึกษามหาวิทยาลัย” ว่า..ทั้งเกียรติยศและความมั่งคั่งนั้นก็คือ...สิ่งปรารถนาอันสูงสุดที่พวกเขาต้องการได้รับ...จนต้องตกเป็นทาสของทั้งสองสิ่งนี้...ไปในที่สุด

“พวกเขาไม่กล้าสลัดทิ้ง...ไม่กล้าหลีกหนีไปไหน” ส่วนในบทละคร “งานเลี้ยง” คำว่า “เขื่อง” ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครตัวหนึ่ง...ก็น่าจะเป็นความหมายที่แสดงให้เห็นถึงบุคลิกของเขา...ตลอดจนบรรยากาศแห่งสถานภาพของงานเลี้ยงนั้น รวมทั้งประเด็นของการเป็นผู้ “กำชะตาชีวิตของตนเอง...”

นอกเหนือจากรูปแบบ  ของการเขียนในงานประพันธ์ทุกประเภท...ที่ปรากฏอย่างโดดเด่นนั้น... “วิทยากร” ยังได้ตอกย้ำประเด็นของเนื้อหาเอาไว้..อย่างเต็มเปี่ยมไปด้วย “น้ำหนักแห่งสาระ” ตลอดจนแนวคิดในมุมมองต่างๆ” ...เป็นพลังแห่งการสื่อสารทางปัญญา โดยเฉพาะมิติแห่งความรู้สึกนึกคิดของคนร่วมสมัย และสภาวะทางสังคมที่เด่นชัดอยู่ในขณะนั้น..

“ขณะที่คนรุ่นเก่าส่วนใหญ่ ยังติดอิทธิพลของวัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนายอยู่มาก...ยึดมั่นในระบบอาวุโส ยอมรับอำนาจที่ลดหลั่นกันมาเป็นขั้นๆเด็ดขาด...เฉพาะผู้ที่ถือว่าด้อยกว่า...แต่คนระดับเดียวกัน มักจะนิยมการประนีประนอม ไม่กล้าทำอะไร คนรุ่นใหม่ผู้ได้รับการศึกษาแผนใหม่...มักมีความนิยมในความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตย และการตัดสินใจเด็ดขาดตามเหตุผล ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามมากกว่า...ดังนั้นความขัดแย้งจึงต้องอยู่ในวิสัยที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ”

(คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่)

“ฉันจึงมาหาความหมาย”...จึ่งถือเป็นหนังสือแห่งยุคสมัยที่มีอายุยืนยาวทางความคิดมาร่วมกึ่งศตวรรษ...อาจกล่าวได้ว่า..เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นและปรากฏในหนังสือเล่มนี้...เป็นผลผลิตจากสังคมอันสับสนและเต็มไปด้วยเงื่อนงำของประเทศ...นับเนื่องจากปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา...

มาจนถึงวันนี้...ที่สุดแล้ว...เราก็ได้คำตอบออกมาอย่างหนึ่งว่า...หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแห่งอนาคตกาล...เป็นหนังสือแห่งอนาคตของอดีต..ที่พูดถึงปัจจุบันของปัจจุบันเอาไว้อย่างหมดเปลือก...ถึงความหมายที่บกพร่องแห่งสังคม ทั้งด้วยตัวบุคคลและสภาวการณ์ที่เป็นไป ไม่ว่า “ความเปลี่ยนแปลงจะเปลี่ยนไปเพียงใด” ทุกสิ่งดูเหมือนจะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่น แห่งการแสวงหาในยุคสมัยนั้นๆ ...ของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ..

หนังสือบางเล่มเป็นของคนทั้งโลก..แต่หนังสือบางเล่ม...เป็นแค่เฉพาะของคนบางคนที่พร้อมจะสัมผัสกับมันเท่านั้น..และ”ฉันจึงมาหาความหมาย”ก็เช่นกัน

“...............................................

ฉันจึงมาหาความหมาย/ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย.../

สุดท้ายได้................................???”