วันที่ 13 ต.ค. 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีพ่อแม่ผู้ปกครองยังกังวลการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ว่า วัคซีนแต่ละตัวต้องผ่านการศึกษาวิจัยและทดลองมาอย่างดีหลายขั้นตอนก่อนจะอนุมัติให้มีการฉีด วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็กก็ผ่าน อย.สหรัฐฯ และเริ่มให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดกันง่ายมาก ยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะอักเสบในอวัยวะต่างๆ (MIS-C) แล้วติดเชื้อโควิด จะเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนโควิดชนิดโปรตีนซับยูนิตเป็นอีกแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยมาก โดยประเทศไทยมีการนำเข้ามา และกำลังศึกษาในเด็ก รอ อย.พิจารณา ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และจริงๆ ในจีนมีการนำเชื้อตายฉีดในเด็กเช่นกัน

โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า โควิดดูเหมือนสงบ แต่มีโอกาสก่อตัวขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา หากมีความมั่นใจกับวัคซีน อยากแนะนำให้พาลูกหลานไปฉีด เพราะยังต้องอยู่กับโควิดอีกนาน อย่างน้อยเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะได้สบายใจ และกลุ่มที่เสียชีวิตขณะนี้มีเด็กเล็กด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เหมือนตอนวัคซีนเข้ามาใหม่ๆ มีคนมาปรึกษาถึงคุณพ่อคุณแม่อายุ 90 ปีเป็นโรคหัวใจควรฉีดไหม ซึ่งในความเป็นจริงต้องรีบฉีดเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงกับไวรัส พอฉีดเสร็จก็ปลอดภัย บางทีเราไปกังวลหรือกลัวกับคนที่ฉีดไปเพียงรายเดียวที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากที่ฉีดเป็นหมื่นๆ รายแล้วไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ

อีกทั้งศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวว่า เชื้อโควิดมีการกลายพันธุ์ตลอด แต่ละครั้งที่กลายพันธุ์จะพบว่า ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ดังนั้นที่บอกว่าผู้ใหญ่ฉีดกันเยอะแล้ว ก็ยังเป็นห่วงว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้าโคโรนาไวรัสอาจจะกลับมาอีก เพราะโคโรนาไวรัสเคยโจมตีเรามาแล้วตั้งแต่เกิดโรคซาร์สปี 2002 ต่อด้วยเมอร์ส 2012 จนมาโควิด เชื้อกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ หากคนทั้งโลกภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อกลายพันธุ์จนถึงจุดที่รุนแรงก็จะกลับมาระบาดได้

ส่วนในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการระบาดที่เรียกว่าสโลว์เบิร์น (slow burn) จะปะทุขึ้นและค่อยๆ ลดลง โดยเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ แล้วก็หยุดลง ไม่ได้เป็นการแพร่ระบาดไปทั้งโลก จึงไม่ค่อยน่ากังวล สโลว์เบิร์นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามที่เราคาดการณ์