“โรงพยาบาลศิริราช มุ่งหวังที่จะดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ และเกิดปัญหาน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการรักษาพยาบาล การรอคอย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพิ่มความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ ที่สำคัญคือลดค่าใช้จ่ายในการมาหาหมอ นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ จึงมีแนวคิดสร้าง Smart Hospital เพื่อเป็นต้นแบบ”

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสานต่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อพัฒนาสู่สถาบันการแพทย์ที่สร้างสรรค์สุขภาวะแก่ประชาชน สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม หลังจากที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงการเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการแพทย์ที่มีความโดดเด่น หรือ Academic Hub และภารกิจที่สำคัญคือ การนำพาโรงพยาบาลศิริราชไปสู่การเป็นต้นแบบของ “Smart Hospital”

“ศิริราชปูพื้นฐานและพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ เริ่มจากแอปพลิเคชัน Siriraj Connect แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ สามารถแจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้า ลงทะเบียนเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ แจ้งเตือนคิวตรวจแบบเรียลไทม์ เช็คคิวเจาะเลือดและรับยา และชำระเงินได้จากแอปพลิเคชันเดียว รวมถึงการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine) กับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาที่โรงพยาบาลด้วย จากนั้นจึงร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมารับบริการ”

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการเป็น Smart Hospital นอกจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งสำคัญคือบุคลากรต้องมีความเข้าใจในนวัตกรรม มีทักษะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งศิริราชมีความพร้อมทั้งระบบการศึกษา อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยจัดพื้นที่ที่เรียกว่า “Smart Digital Hub” ให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รวมถึงบุคลการของศิริราช ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรม

“Siriraj Smart Hospital ในระยะแรกเรามีต้นแบบประมาณ 9 เรื่องพื้นฐาน และกำลังจะขยับไปในระยะที่ 2 เรามี Siriraj Data Plus เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบโรงพยาบาลทั้งหมด สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบกับความสามารถของ AI เข้ามาดีไซน์จุดที่ต้องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรบุคคล การเงิน การคลัง พัสดุทรัพย์สินโรงพยาบาล เป็นการบริหารจัดการที่นำข้อมูลดิบมาจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ลดขั้นตอน เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ ซึ่งผมเชื่อมั่นจะเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ในอนาคต”

ด้าน ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ในฐานะโรงเรียนแพทย์เก่าแก่ ศิริราชมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ด้วยสรรพกำลังที่มีความพร้อม เราจะเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบในรูปแบบการรักษาพยาบาล โดยใช้คำว่า Smart เป็นหลักคิด โจทย์ของศิริราชคือ ความแออัด การเข้าไม่ถึงบริการ ตั้งต้นจากข้อมูลของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศิริราช เฉลี่ยปีละ 3 ล้านครั้ง และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ปีละ 1% เนื่องจากโรงพยาบาลมีความแออัด โดยพบว่าผู้ป่วยหนึ่งรายจะมารับบริการที่ศิริราชเฉลี่ยคนละ 5 ครั้งต่อปี บางรายมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น จึงเกิดความไม่สมดุลของการบริการและรับบริการ จึงเป็นที่มาของการทำโครงการ Smart Hospital โดยนำเทคโนโลยีมาออกแบบระบบการให้บริการเพื่อลดปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา แก้ปัญหาโดยใช้คนไข้เป็นศูนย์กลาง ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษา ในเวลา และสถานที่ที่เหมาะสม ในราคาที่คุ้มค่าเหมาะสม และทำให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด

ที่สุดแล้วการทำ Smart Hospital อย่างแรกต้องทำให้เกิดการเข้าถึงที่ดีขึ้น (Smart Access) ในที่นี้หมายถึงเข้าถึงเมื่อจำเป็นต้องเข้าถึงได้ สองระบบการรับบริการที่ราบรื่น ไม่ต้องรอ หรือรอคอยน้อยที่สุด (Smart Operation) สามข้อมูลต้องทั่วถึงทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ (Smart Information) ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการรักษาพยาบาลหรือข้อมูลเรื่องของโรคต่างๆ เรื่องถัดมาคือคนของศิริราชก็ต้องสมาร์ท (Smart People) บุคลากรในศิริริราชต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือเป็นและต่อยอดข้อมูลได้ ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย