“สะพานพระราม 8” สะพานที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2538 ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพระองค์ทรงตระหนักถึงความหนาแน่นของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีที่ยังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอ ให้สามารถคลี่คลายลงได้และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8”
ซึ่งในยามค่ำคืน หากมองไกลๆ จะเห็นแสงไฟสีเหลืองอุ่นจับสะพานพระราม 8 สวยงามอร่ามตา เป็นสะพานข้ามระหว่างฝั่งเขตธนบุรีกับฝั่งเขตพระนครโดยไม่ใช้เสาค้ำหรือตอม่อตรงกลางแม่น้ำ เรียกว่าสะพานขึงแบบอสมมาตร อาศัยสายเคเบิลยึดระนาบ 28 คู่ ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยวอีก 28 เส้นยึดกับโครงสร้างเสาเดี่ยวรูปตัว Y กลับหัว ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณริมฝั่งเขตธนบุรี พร้อมเสารับน้ำหนักติดตั้งบริเวณริมฝั่งเขตพระนคร
การออกแบบคำนึงถึงการใช้งานสัญจรทางบก แต่ก็ได้เอื้อต่อการสัญจรทางน้ำ โดยเรือสามารถผ่านได้สะดวกไม่มีสิ่งกีดขวาง และไม่มีสิ่งปลูกสร้างขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอาจกระทบต่อระบบนิเวศและการระบายน้ำ และยังเพิ่มความสวยงามให้กับเมือง ด้วยระยะทางของสะพานยาว 475 เมตร กว้าง 14 เมตร รถสัญจรได้ 4 ช่องจราจร ถือเป็นสะพานขึงสายเคเบิลแบบอสมมาตรที่มีความยาวติดอันดับ 5 ของโลก
ภายในสายเคเบิลแต่ละเส้นยังประกอบไปด้วยสายสลิงตั้งแต่ 11-65 เส้นไว้ภายใน สามารถปรับความตึง-หย่อนได้เวลาเกิดปัญหา รวมถึงการบำรุงรักษาโดยไม่ต้องปิดการจราจรเพื่อซ่อมแซม
โครงการสะพานพระราม 8 ในหลวง ร.9 ทรงเขียนแนวแผนผังของสะพานด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง ก่อนให้กรุงเทพมหานครศึกษาความเป็นไปได้จนได้รับการออกแบบโดยวิศวกรระดับโลก ปีเตอร์ บัคแลนด์และปีเตอร์ เทย์เลอร์ ผู้เคยฝากผลงานการออกแบบสะพานอเล็กซ์เฟรเซอร์ ทอดข้ามแม่น้ำเฟรเซอร์เชื่อมต่อระหว่างเมืองริชมอนด์ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกากับเขตนอร์ทเดลต้าในมหานครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก
สะพานพระราม 8 สร้างเสร็จและเปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 จากกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2538 ใจความว่า
“การที่จราจรคับคั่งนี้เป็นปัญหาที่ยุ่งยาก และขอพูดคือประชาชนเดือดร้อน ประชาชนจะไปทำงานต้องเสียเวลาบนถนนระหว่าง 2-10 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของบุคคลด้อยลงไป”
เนื่องจาก ลำพังสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งเป็นสะพานเดียวที่ใช้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร ระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร ไม่เพียงพอต่อการสัญจรซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรทั้งหมดประมาณ 5,701,394 คน เฉพาะเขตพระนครมีประชากรราว 60,313 คน หรือ 18,453 หลังคาเรือน ส่วนเขตธนบุรีมีประชากรทั้งหมดประมาณ 124,499 คน หรือ 45,446 หลังคาเรือน การเกิดขึ้นของสะพานพระราม 8 จึงช่วยบรรเทาความแออัดของรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% ทั้งยังแบ่งเบาภาระของสะพานกรุงธนได้ถึง 20% โดยเฉลี่ยมีรถใช้ประโยชน์จากการสัญจรบนสะพานพระราม 8 วันละ 72,873 คัน
ตลอดทางบนสะพานพระราม 8 เชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริและมูลนิธิชัยพัฒนา เขตบางพลัด บรรจบที่ปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ เขตพระนคร ยังผ่อนคลายสภาพการจราจรต่อเนื่องบริเวณโดยรอบ เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี ถนนตลิ่งชันถึงนครไชยศรี ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนอรุณอมรินทร์ และถนนสิรินธร เป็นต้น รวมถึงบรรเทาการจราจรที่ผ่านเข้าไปในเกาะรัตนโกสินทร์ และเชื่อมการคมนาคมให้เอื้อต่อระบบขนส่งและการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ของทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
นอกจากนี้ สะพานพระราม 8 ยังมีทางเท้าสำหรับสัญจรและปั่นจักรยานออกกำลังกาย รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการวิ่ง ภายใต้บรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามตามเวลาต่างกัน ทั้งยังให้พื้นที่ใต้สะพานเป็นสวนสาธารณะริมน้ำแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนสามารถใช้เป็นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น เล่นสเก็ตบอร์ด ช่างตัดผมอาสาตัดผมฟรี ทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวกันของเยาวชนจิตอาสาทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน รวมถึงเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวยังถูกใช้เป็นสถานที่ตรวจโรคและฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไป ปัจจุบันมีทั้งผู้ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ค้าขาย รวมถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจภายใต้การดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมงของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำใต้สะพานพระราม 8
สำหรับหลายคน สะพานพระราม 8 ถือเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญระดับชีวิต เพราะเป็นต้นทางแห่งการทำงานสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกัน สะพานพระราม 8 ก็เป็นอีกจุดเชื่อมต่อหนึ่งในการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจให้คล่องตัวยิ่งขึ้น แต่ใครจะคิดว่า ประโยชน์ของสะพานจะเอื้ออำนวยให้กับชาวบ้านตัวเล็กๆ ในชุมชนได้อาศัยเป็นพื้นที่ทำกิน ค้าขาย ทั้งเป็นที่ออกกำลังกาย ตรวจรักษาพยาบาลยามฉุกเฉิน และเป็นที่สันทนาการสำหรับเยาวชนและคนทั่วไป เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานครในด้านบรรยากาศและการท่องเที่ยว ทั้งยังให้นึกถึงรัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรีไทย นับเป็นพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ไม่ได้สร้างแค่สะพานสวยงามเพื่อข้ามอย่างเดียว หากยังเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนทุกระดับอีกมากมาย
*********
รายงานพิเศษโดย
นายกรวิก อุนะพำนัก