สำหรับอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรืออุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9  ซึ่งกำลังเปลี่ยนสนามม้านางเลิ้งเดิมให้เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร ที่ออกแบบเป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป เพราะที่นี่เป็นทั้งสวนแสนสวย เป็นสวนป่าธรรมชาติกลางกรุง อีกทั้งจะเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางเมือง และแลนด์มาร์คของไทย

สถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้

ซึ่งอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นหัวใจสำคัญ โดยพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 สูง 5.19 เมตร ขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สูง 18.7 เมตร จากระดับถนนศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในลานรูปไข่ มีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตรบนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน

โดยอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เกิดขึ้นจากพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชทานอุทยานแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดิน น้ำ ป่าของทั้งสองพระองค์ ซึ่งนำมาเป็นโจทย์ในการออกแบบพื้นที่โครงการ  279 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่น้ำ 47 ไร่ พื้นที่สีเขียว 105 ภายใต้แนวคิดสวนแห่งความสุข และความยั่งยืน

ซึ่งจุดสำคัญทรงมีพระราชดำริให้พื้นที่แห่งนี้แก้ไขปัญหาน้ำของกรุงเทพมหานครในยามวิกฤต โดยเป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิงใหม่ของกรุงเทพฯ จึงทำให้การออกแบบภายในมีความสอดคล้องกับบริบทโดยรอบ มีการเชื่อมโยงระบบระบายน้ำในพื้นที่  รวมถึงการเก็บน้ำทางผิวดินในสระน้ำ และเก็บน้ำใต้ดินที่สอดคล้องกับคูคลอง เช่น คลองเปรมประชากร คลองผดุงกรุงเกษม และคลองสามเสน วางแผนจัดการน้ำผ่านระบบสารสนเทศสมัยใหม่  หากเกิดวิกฤตน้ำท่วมจะช่วยแบ่งปัน บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังให้กับเมือง  

พร้อมกันนี้ยังนำพลังงานแสงอาทิตย์มาจัดการน้ำผ่านโซล่าเซลล์ลอยน้ำ ใช้ในพื้นที่บางส่วนของโครงการ สูบน้ำจากปลายน้ำหมุนเวียนกลับขึ้นไปยังต้นน้ำ มีการเลี้ยงปลา เช่น กระโห้ ตะเพียนขาว ตะพาก กระแห พึ่งพิงกันเป็นระบบนิเวศ รวมถึงพืชชุ่มน้ำสร้างความหลากหลายทางธรรมชาติและกรองน้ำที่ไหลสู่บ่อน้ำเลข  9

ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ

ทั้งนี้สวนสาธารณะแห่งใหม่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนใช้งานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเรียนรู้แนวพระราชดำริในหลวง  ร.9 และสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ  ที่สำคัญที่สุด คือ น้ำ เพราะน้ำคือชีวิต รวมถึงความสำคัญของดินและป่า

นอกจากนี้ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ช่วย แก้ไขปัญหามลพิษอากาศที่เมืองใหญ่ประสบอยู่  โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก  PM 2.5  และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  อีกทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้านจิตใจ กีฬา นันทนาการต่างๆ

เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย

ดังนั้นอุทยานเฉลิมพระเกียรตินี้ จึงเต็มไปด้วยพรรณไม้ สะท้อนแนวพระราชดำริการจัดการน้ำและป่าอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จัดพื้นที่ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ประกอบด้วย ไม้ใช้งาน  ไม้โตเร็ว  ไม้เศรษฐกิจ  และไม้รับประทานได้ โดยพรรณไม้ที่เลือกใช้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการพืชสวน มาให้ความรู้ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะเติบโตดีในภาคกลาง เพื่อการดูแลในอนาคตอย่างยั่งยืน อีกทั้งต้นไม้ส่วนใหญ่ปลูกจากต้นกล้า เพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง เอื้อต่อการเจริญเติบโต

รวมถึงการปลูกต้นไม้เพื่อการศึกษา   เช่น ต้นไม้มงคลประราชทานประจำจังหวัด 77 จังหวัด สื่อความหมายแต่ละจังหวัดประกอบเป็นประเทศไทย  รวมถึงต้นไม้เชิงสัญลักษณ์ทางจิตใจ รำลึกถึงในหลวง ร. 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เช่น ต้นยางนา ต้นไม้ดอกสีเหลืองที่คนไทยคุ้นตา พรรณไม้ในวรรณคดี  และพืชกรองน้ำ และพืชกรองฝุ่น ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์  พืชป้องกันมลพิษทางเสียง  โดย  ภายในสวนสามารถเรียนรู้ชนิดพรรณและประโยชน์หรือสรรพคุณผ่านเทคโนโลยีทันสมัยเพียงสแกนคิวอาร์โค้ด

อย่างไรก็ตามจุดเด่นของที่นี่ที่นำสัญลักษณ์เลขเก้าไทยมาตกแต่งภายในสวน คือสระน้ำหมายเลขเก้าไทย  สะพานเลขเก้าไทย ซึ่งเป็นสะพานทางเข้าจากแยกนางเลิ้งขึ้นสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะ นอกจากนี้ มีสะพานหยดน้ำพระทัย เวลาสะท้อนน้ำเห็นเป็นรูปหยดน้ำ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน อีกทั้ง จำลองสะพานไม้เจาะบากง เป็นภาพจำที่ประชาชนคุ้นตามาก เมื่อครั้ง ร.9 เสด็จฯ จ.นราธิวาส ปี 2524 ประทับข้างรถยนต์พระที่นั่งบนสะพานไม้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้ และพักผ่อนออกกำลังกายของคนเมืองแห่งใหม่ จะมีลานกีฬากลางแจ้ง ลานสเก็ตซ์  สนามบาสเก็ตบอล ลานเซปักตะกร้อ  พื้นที่เล่นโยคะ  พื้นที่เล่นชี่กงสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงเส้นทางจักรยาน 3.5 กิโลเมตร  เส้นทางวิ่ง 3.5 กิโลเมตร เส้นทางเดินที่น่ารื่นรมย์  แต่ละเส้นทางเป็นอิสระต่อกัน คำนึงถึงความปลอดภัย แต่สามารถเชื่อมกันได้

'พระบรมราชานุสาวรีย์ ร. 9'หัวใจของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

ทั้งนี้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรืออุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9  มีการเริ่มพัฒนาแบบมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีจุดเด่นสำคัญ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถือว่าเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าประชาชนจะสามารถมองเห็นอนุสาวรีย์ได้จากถนนรอบนอกพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งถนนศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 5 และถนนพิษณุโลก

จากวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ส่วนพระเศียร) ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง และจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13ตุลาคม 2565 สมพระเกียรติพระบรมรูป ร.9 มีความสูง 7.1 เมตร ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

สำหรับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีขนาดความสูง 7.41 เมตร หรือขนาด 4 เท่าของพระองค์จริงทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักสวนจิตรดา ถนนศรีอยุธยา หล่อด้วยโลหะสำริด ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยมมีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน