วันที่ 12 ต.ค.2565 สภากรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา สภากรุงเทพมหานคร กทม.2 ดินแดง โดยมีญัตติสำคัญของนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครมีมาตรการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ตนในฐานะพ่อคนหนึ่งที่มีลูกอายุใกล้เคียงผู้เสียชีวิตในเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู รู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง จึงขอให้มีการพิจารณาเพิ่มความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทั้งภายในและภายนอก เพราะเชื่อว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกและเหตุการณ์สุดท้าย จึงเสนอให้มีเครื่องตรวจโลหะหน้าโรงเรียน และมีการตรวจอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการช่วยระงับเหตุร้ายตั้งแต่ต้นทาง แม้ต้องใช้งบประมาณสูงแต่คุ้มค่าหากเทียบกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ขอเสนอให้มีการเตรียมแผนซักซ้อมเหตุฉุกเฉินในโรงเรียน เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แผนกันเด็กพลัดตกอาคาร เพื่อให้เด็กและบุคลากรทราบว่า เบื้องต้นหากเกิดเหตุต่างๆ ควรทำอย่างไร รวมถึงเสนอให้มีปุ่มฉุกเฉินในโรงเรียนที่สามารถแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบโดยไม่ต้องโทรแจ้ง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้กทม.ตรวจสุขภาพจิตครูและบุคลากรทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กผ่านการคัดเลือกก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง
“ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ ในยุคที่ยาบ้าเม็ดละ 7 บาท ขณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของปืนง่ายขึ้น หากมีความเครียดสะสม และมีการเข้าถึงยาบ้าง่ายขึ้นก็อาจเกิดเหตุซ้ำรอยได้ เป็นหน้าที่กทม.ต้องป้องกัน” นายกิตติพงศ์ กล่าว
ด้านนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนญัตติดังกล่าว แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องการติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะหรืออาวุธ กทม.ควรปรับปรุงระบบพื้นฐานของโรงเรียนให้สมบูรณ์ก่อน เช่น มุ้งลวดกันยุง ปรับปรุงตู้น้ำที่มีไฟรั่ว ปรับปรุงรั้วที่เกิดสนิมให้แข็งแรงขึ้น รวมถึงแก้ปัญหางบประมาณเข้าไม่ถึงศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นปัญหามานาน โดยเฉพาะงบค่าอาหารกลางวันเด็กซึ่งไม่เพียงพอ ดังนี้ จึงขอเสนอให้กทม.สามารถใช้งบในการปรับปรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐานของศูนย์เด็กเล็กให้ได้ รวมถึง จัดให้ศูนย์เด็กเล็กเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่ให้คนนอกเข้าโดยเด็ดขาด กรณีผู้ปกครองมารับบุตรหลานได้เฉพาะหน้าโรงเรียนเท่านั้น เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นตอนไหนจากเหตุปัจจัยภายนอก
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนคือหัวใจของการพัฒนาคน ที่ผ่านมากทม.อาจให้ความสำคัญกับส่วนนี้น้อย จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ปัจจุบัน กทม.มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนประมาณ 291 แห่ง มีนักเรียนในศูนย์ฯประมาณ 20,000 คน และมีเด็กเกิดในกทม.ปีละประมาณ 50,000 คน จึงทำให้กทม.ต้องดูแลเด็กก่อนวัยเรียนอย่างน้อยประมาณ 200,000 คน แต่ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม.จึงยังสรุปจำนวนที่แท้จริงไม่ได้ ทั้งนี้ยังมีศูนย์เด็กเล็กที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกทม.ซึ่งอาจยังไม่ได้มาตรฐาน หรือยังไม่อยู่ในระบบ จึงจำเป็นต้องดึงเข้าระบบให้มากขึ้นเพื่อการช่วยเหลือได้ตามมาตรฐาน
“เด็กในช่วง 6 ปี จะพัฒนามากที่สุด หลังจากนั้นการพัฒนาสมองต่างๆจะช้าลง ถ้าเรามัวแต่ไปพัฒนามหาวิทยาลัยและโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่เราลืมเส้นเลือดฝอยก็คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนประถมศึกษา การศึกษาขั้นปฐมภูมิ สุดท้ายแล้วเด็กจะพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ ส่วนเรื่องมาตรการที่สมาชิกทุกท่านให้ความเห็นมา เป็นเรื่องสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่เรากำลังทบทวน ด้วยความเสี่ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องกราดยิง เบื้องต้นยังมี เรื่องไฟดูด มลพิษ เรื่องสุขภาวะ อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดในองค์รวม ไม่ใช่ว่ามีเรื่องแล้วค่อยมาคิด เพราะฉะนั้นจึงสั่งให้ทบทวนประเมินความเสี่ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนรวมถึงในโรงเรียนของ กทม.ด้วย แต่ในโรงเรียน กทม.จะได้เปรียบ เพราะมีทั้ง รปภ.มีทั้งครู ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ทั้งนี้ต้องนำข้อเสนอมาพิจารณาต่อไป เช่น ปุ่มฉุกเฉิน อาจเปลี่ยนเป็นแจ้งทางแอพพลิเคชั่นแทน” นายชัชชาติ กล่าว