นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการรถไฟฯ ได้ปรับปรุง และนำขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาทดสอบเดินรถในเส้นทางต่างๆ เช่น กรุงเทพ-ศรีราชา (ชลบุรี) และกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ปรากฏว่า ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการปรับปรุงตู้รถไฟ KIHA 183 ให้มีความสวยงาม กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยยังคงสภาพเดิมทั้งสี และอักษรภาษาญี่ปุ่น จนทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนอยากเดินทางมานั่งรถไฟขบวนนี้อีกครั้งที่ประเทศไทย เพื่อรำลึกความหลังเมื่อครั้งให้บริการอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้คนญี่ปุ่นจำนวนมากแสดงความขอบคุณที่การรถไฟฯ ช่วยรักษา และปรับปรุงให้รถไฟของญี่ปุ่นมีสภาพใหม่เอี่ยม รวมถึงรักษาเอกลักษณ์ของตัวรถไว้เหมือนเดิมทุกประการ โดยคนญี่ปุ่นชื่นชมที่การรถไฟฯ และคนไทยให้เกียรติกับประเทศญี่ปุ่นมาก โดยทั้งหมดนี้เป็นนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้คงเอกลักษณ์เดิมของญี่ปุ่นไว้เดิมทั้งหมด ถือเป็นการให้เกียรติ และยอมรับในเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยสานสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันให้ยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจากบริษัท JR HOKKAIDO ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดินรถของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้น ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab)  52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย โดยช่างของฝ่ายการช่างกล โรงงานมักกะสัน ที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญของเฉพาะด้าน รวมทั้ง ได้นำตู้โดยสารมาปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงได้กับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นความร่วมมือ ระหว่างการรถไฟฯ และบริษัทในเครือ JR ที่มีมาอย่างยาวนาน

นายเอกรัช กล่าวอีกว่า การรับมอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการมอบตู้โดยสารเป็นครั้งที่ 2 หลังจากในครั้งแรกได้ส่งมาให้ประเทศไทยแล้ว จำนวน 10 ตู้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงดัดแปลง เพื่อใช้เป็นขบวนรถด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้การรถไฟฯ ยังเคยได้รับตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่น (บริษัท JR-West) เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ โดยนำมาปรับปรุงและดัดแปลงเป็นรถโดยสารและรถจัดเฉพาะ เช่น รถ SRT Prestige รถประชุมปรับอากาศ ฯลฯ  เพื่อให้บริการแก่ประชาชน สามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

"นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับคำชื่นชมต่างๆ หลังจากนี้จะเร่งพัฒนาปรับปรุงรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่เหลือให้แล้วเสร็จ และพัฒนาอย่างดีที่สุด เพื่อนำออกมาวิ่งให้บริการครบทั้ง 17 คันภายในสิ้นปี 2566 ปัจจุบันฝ่ายการช่างกล ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 4 คัน คาดว่าจะสามารถนำมาให้บริการเดินขบวนรถในเส้นทางท่องเที่ยวได้ภายในปีนี้ มั่นใจว่านอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลด้วย โดยในระยะแรกจะเริ่มทดลองนำรถออกให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป หรือเทศกาลสำคัญต่างๆ ตลอดจนนำออกมาให้เช่าสำหรับผู้ที่สนใจนำไปจัดกิจกรรม หรือนำเที่ยวเป็นหมู่คณะ"

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า การรถไฟฯ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดเส้นทางในการให้บริการต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถเสนอเส้นทางที่อยากให้รถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 เดินรถให้บริการได้ ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการร่วมกันสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวที่ดีให้แก่ประชาชน