วันที่ 11 ต.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือร่วมกับสมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติ เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ กทม. กับบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยมีคณะทำงานโครงการการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมในพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ร่วมประชุม ณ ห้องอัมรินทร์ ศลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า บางกะเจ้าเป็นพื้นที่สีเขียวถือเป็นปอด กทม. โดยเป็นพื้นที่เขียวลาย ปัญหาคือปัจจุบันประสบปัญหาน้ำเค็มเข้ามามากจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ทำให้การเกษตรในพื้นที่ค่อยๆหายไป ซึ่งได้หารือว่า กทม.พอจะช่วยส่วนไหนได้บ้าง โดยจะดูความเป็นไปได้ในส่วนของโรงบำบัดน้ำเสียคลองช่องนนทรีย์ซึ่งมีการบำบัดน้ำเสียวันละประมาณ 100,000 ลิตร ว่าจะสามารถส่งน้ำบำบัดจากคลองช่องนนทรีย์ไปที่บางกะเจ้าเพื่อให้ไปทำการเกษตรได้หรือไม่ ต้องดูทั้งเรื่องการลงทุนโครงสร้างในการที่จะส่งน้ำรอดเจ้าพระยาไปยังบางกะเจ้า อย่างไร และเรื่องของค่าใช้จ่ายในการโอปเรทเท่าไร ประโยชน์ที่จะได้รับมากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะทำเป็นอ้างเก็บน้ำแทน ซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง
“เรายินดี เพราะกทม.ได้รับประโยชน์จากบางกะเจ้าเยอะ ในแง่พื้นที่สีเขียว แง่สวนสาธารณะ เป็นปอดให้คนกรุงเทพฯ อะไรที่ร่วมมือกันได้ เราก็ยินดี แต่ต้องขอไปศึกษารายละเอียดก่อน ว่ามีวิธีอื่นที่จะทำได้หรือไม่อย่างไร วันนี้เป็นการหารือเบื้องต้นก่อน แต่สุดท้ายต้องไปดูภาพรวม ต้องของคุณชาวบางกะเจ้าที่ พื้นที่บางกะเจ้าเป็นทั้งที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจที่ดี และถ้ายังเป็นพื้นที่เกษตรที่มีคุณภาพก็จะเป็นแหล่งอาหารให้เราได้ เป็นทั้งแหล่งพักผ่อน แหล่งโอโซนให้กรุงเทพฯ“ ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
สำหรับการประชุมหารือวันนี้ รศ.ดร.เถาวลักษม์ กิตติประภัสร์ หัวหน้าโครงการ การจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมในพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า และ นายกสมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่ห์) พร้อมด้วยตัวแทนชุมชน เข้าพบผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการที่เป็นไปได้ในการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกันในสองพื้นที่ โดยเฉพาะการขอใช้ประโยชน์จากน้ำที่บำบัดแล้วทางช่องนนทรีย์ให้ไปเจือจางน้ำเค็มที่ชุนชนบางกะเจ้า (ผ่านท่อระบายน้ำที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ) เพื่อให้ได้น้ำจืดที่ใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้ และช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้าให้อยู่รอดจากการรุกรานของน้ำเค็มในฤดูแล้ง อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงทพฯ และส่วนรวม เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่าได้ประโยชน์สูงสุด