นายอำเภอมะนัง “รอมดอน หะยีอาแว” อายุเพียง 35 ปี ดีกรีปริญญาโท 2 ใบ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ปริญญาโท สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งปลัดอำเภอที่จังหวัดบ้านเกิด “ปัตตานี”
ตลอดอายุราชการ 13 ปี ดำเนินชีวิตภายใต้คติ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” ไม่ว่า ณ ช่วงเวลานั้นจะดำรงตำแหน่งอะไร หรือมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร จะทำมันให้ดีที่สุด และหากได้รับมอบหมายสิ่งที่ยาก จะมองว่าเป็นการท้าทายความสามารถ รู้สึกสนุกที่ได้ผ่านแต่ละบททดสอบ บางด่านก็ง่ายสามารถผ่านได้ไม่ยาก แต่บางด่านก็ต้องใช้ความพยายาม แต่ท้ายที่สุดไม่มากก็น้อยเราจะได้เรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์ที่เราผ่านและสั่งสมมา
กระทั่งได้รับโอกาสเป็นนายอำเภอป้ายแดง ที่อำเภอมะนัง จ.สตูล ในปีนี้ (2565) ด้วยความสามารถบวกความตั้งใจทำงาน เข้าถึงพี่น้องประชาชนภายใต้หลักการทำงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงเป็นที่รัก เกิดความร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันทำงาน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
@ แนวคิดการทำงานกับคน
ในฐานะที่เป็นคนที่อายุยังไม่เยอะ และได้มีโอกาสร่วมงานกับหลายภาคส่วน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเคารพและให้เกียรติบุคคลอื่น ๆ เสมอ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใคร สิ่งหนึ่งที่ข้าราชการในปัจจุบันมักเข้าใจคือ ทำตนให้เป็นที่เคารพของประชาชน แต่ในความเป็นจริงเราในฐานะข้าราชการต้องเคารพประชาชน เดินเข้าไปหาประชาชนก่อน ไม่รอให้เขามีเรื่องเดือนร้อนแล้วถึงเดินมาหาให้เราช่วย
สถานที่ทำงานของนายอำเภอมะนัง ไม่ใช่บนที่ว่าการอำเภอมะนัง แต่คือพื้นที่ทั้งหมดในอำเภอมะนัง ดังนั้น จึงจัดสรรเวลาที่จะได้ไปในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างสัมพันธ์กับประชาชน เพื่อได้เห็น และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริงจากประชาชน การที่นายอำเภอเป็นคนเข้าถึงง่าย ก็มีแนวโน้มที่ประชาชน หรือส่วนราชการต่าง ๆ จะให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานอำเภอมากขึ้น
@ หลักการทำงาน
ยังคงน้อมนำ หลัก“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน สอดคล้องแนวคิดการทำงานที่จะเน้นทำงาน เชิงรุก ลงพื้นที่จริง ศึกษาปัญหาต่าง ๆ จากหน้างานและรับข้อมูลปฐมภูมิจากประชาชน จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนที่กำลังทุกข์ได้ถูกจุด และหากประชาชนกลุ่มไหน หรือคนไหนมีศักยภาพที่ต่อยอดได้ ในฐานะนายอำเภอก็จะให้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ช่วยต่อยอดให้เขาได้พัฒนา เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นยกตัวอย่างการทำงานเชิงประจักษ์ เช่น
1. การเข้าใจ พื้นที่อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ อำเภอมะนังประกอบด้วยประชาชนชาวไทยอิสลาม ไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชนกลุ่มน้อยต่างๆ การดำเนินนโยบายของอำเภอมะนัง จึงเน้นขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆที่มีความต้องการ และความเดือดร้อนที่แตกต่างกัน เช่นบางกลุ่มประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ บางกลุ่มประสบปัญหาเรื่องที่พักอาศัย หรือบางกลุ่มประสบปัญหาเรื่องการทะเบียนและสัญชาติ เป็นต้น เหล่านี้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จำเป็นต้องเข้าใจปัญหา และสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
2. การเข้าถึง เมื่อเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นายอำเภอมะนัง จะประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่ ก็จะสร้างบ้านให้เขาดีที่ตามอำนาจ และหน้าที่ที่นายอำเภอทำได้ หรือในกรณีนายอำเภอเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำในพื้นที่ ก็มีนโยบายและดำเนินการสร้างฝายกักเก็บน้ำในพื้นที่อำเภอมะนัง ซึ่งปัจจุบันสร้างฝายกั้นน้ำกว่า 900 จุด และจะขยายผลกิจกรรมให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นในอนาคต
3. การพัฒนา อำเภอมะนังไม่ได้ขับเคลื่อนได้เพียงแค่นายอำเภอคนเดียว แต่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนจึงจะประสบความสำเร็จ หลักฐานเชิงประจักษ์คือ การที่อำเภอมะนังเป็น 1 ใน 18 อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจาก นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา (อิสลาม และพุทธ) ฯลฯ ระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัย การมีส้วมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs
@ อำเภอมะนัง จะเดินไปในทิศทางไหน
ปัจจุบันอำเภอมะนัง เป็น 1 ใน “18 อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุขฯ” เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรศาสนา และประชาชนในพื้นที่ของอำเภอมะนัง มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่อำเภอมะนังให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้
สิ่งที่ท้าทายคือปัจจุบันพื้นที่จังหวัดสตูลเป็น อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ความท้าทายแรกคือชาวมะนังจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อุทยานธรณีโลกนี้ให้มีความสมบูรณ์ และคงคุณค่าไว้ได้อย่างไรบ้าง และความท้าทายถัดมาคือจะทำอย่างไรถึงใช้จุดเด่นเรื่องอุทยานธรณีโลก สร้างความสุขให้กับชาวอำเภอมะนัง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของสร้างพื้นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์เป็นมรดกในพื้นที่ หรือแม้แต่การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
@ ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากประสบความสำเร็จ
สิ่งแรกต้องกล้าที่จะฝัน และกล้าที่จะลงมือทำ อย่ากลัวว่าสิ่งที่ทำมันจะยากหรือเราทำไม่ได้ หากได้ลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างที่หวังก็เป็นกำไรชีวิต หรือไม่ได้ประสบความสำเร็จก็เป็นกำไรชีวิตเช่นเดียวกัน เพราะไม่ว่าความสำเร็จหรือความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนให้เราได้พัฒนาตัวเองเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีศักยภาพ และถ้าน้อง ๆ มีความฝันจะเป็นนายอำเภอ และลงมือทำตามความฝันเริ่มจากเป็นปลัดอำเภอ และฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์ด้านต่าง ๆ จากอำเภอ จังหวัด กรม และไม่ลืมที่จะทบทวนความรู้ เมื่อถึงเวลาแข่งขันน้อง ๆ จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก และจะเป็นนายอำเภอที่พร้อมด้วยความรู้และประสบการณ์