การแห่ปราสาทผึ้ง ประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวสกลนคร เป็นประเพณีที่มีความเชื่อในเรื่องของหนองหาร และเกี่ยวกับเรื่องภูตผีวิญญาณ แต่อย่างไรก็ตามการแห่ปราสาทผึ้งนั้น ล้วนมีรากฐานความเชื่อมาจากพุทธศาสนา หนึ่งเดียวในโลก
เวลา 18.30 น วันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่แยกหอนาฬิกา ถนนสุขเกษม เขตเทศบาลนครสกลนคร นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผวจ.สกลนคร เป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-10 ตุลาคมนี้ ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และสนามมิ่งเมือง โดยปราสาทผึ้งทั้ง 10 ขบวน ได้ถูกนำมาตั้งโชว์ความวิจิตรงดงามตระการตา สุดอลังการ์ให้นักท่องเที่ยวได้บันทึกภาพ ตั้งแต่วันที่ 6-8 ตุลาคม จากนั้น วันที่ 9 ตุลาคม จึงได้นำมาเข้าขบวนแห่ ร่วมกับสาวงามจากชนพื้นเมือง 6 เผ่า 2 เชื้อชาติที่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า สวยงามแตกต่างกันไป บวกกับการฟ้อนรำของสาวภูไท แต่ละขบวนใช้ผู้แสดงมากกว่า 300-500 ชีวิต เช่น การรำมวยโบราณ รำหางนกยูง การแสดงวิถีชีวิตของชนพื้นบ้าน ก่อนที่จะนำปราสาทผึ้งไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระอารามหลวง ในเขตเทศบาลนครสกลนคร
สำหรับประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จัดขึ้นทุกปี เพื่อถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม และหลวงพ่อองค์แสน ซึ่งเป็นแหล่งเคารพ สักการะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลมาช้านาน โดยการแห่ปราสาทผึ้งถือเป็นประเพณีสำคัญงานหนึ่ง ในฮีตเดือนสิบเอ็ด ตามหลักฮีตสิบสองคลองสิบสี่ของชาวอีสาน
ถือได้ว่าประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เป็นงานหลักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปีของชาวสกลนครก็ว่าได้ แต่ละหลังมีลวดลายที่งดงามสื่อถึงพระพุทธศาสนาและเอกลักษณ์ประวัติของเมืองสกล โดยกำหนดให้มีการจัดงานในวันออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมหลายหมื่นคน ถือเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงศิลปวัฒธรรมอันดีงามของจ.สกลนคร ที่ได้ปฏิบัติกันมาช้านาน เป็นเทศกาลที่เป็นสัญลักษณ์ หนึ่งเดียวในโลกควรแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ตลอดไป