(6 ต.ค65)นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าพบเพื่อหารือกับ นายนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกทม. และผู้บริหารจังหวัดนนทบุรี ร่วมหารือแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาเพื่อดูแลประชาชน ที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่คณะจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมแล้วหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองปากเกร็ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ โดยมีเรื่องที่พูดคุยกันประเด็นหลัก 2 เรื่อง คือเรื่องการจราจรและน้ำท่วม เนื่องด้วยทั้งสองส่วนนี้มีสภาพไหลไปมาเชื่อมถึงกัน และน้ำท่วมที่ผ่านมาก็มีส่วนที่เชื่อมต่อกันหลายพื้นที่ เช่นคลองบางเขนกรุงเทพฯ รับผิดชอบดูดออกแม่น้ำเจ้าพระยา ก็รับน้ำจากหลายคลองใน จ.นนทบุรี หรือคลองบ้านใหม่ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นพื้นที่ 3 จังหวัด กรุงเทพฯ นนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งถ้าได้มีการบริหารจัดการร่วมกัน สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้ก็จะทำให้การระบายน้ำจากคลองเปรมฯ ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งคลองส่วยซึ่งเป็นคลองหลักที่ขนานอยู่กับคลองประปา และมาลงคลองบางเขน ถ้าเราบริหารจัดการได้ดีร่วมกันได้สุดท้ายจะทำให้บริหารจัดการน้ำจากนนทบุรีและกรุงเทพฯได้ ต้องมีโครงการที่ร่วมมือต่อกัน วันนี้ก็ได้หารือในหลายๆเรื่อง กรุงเทพมหานครก็จะรับผิดชอบคลองบางเขน ซึ่งเป็นตัวรับน้ำจากคลองส่วย มีบางจุดที่ยังทำเขื่อนไม่พร้อม กำลังสูบที่ปลายทางต้องพยายามทำให้ดีขึ้น คลองบ้านใหม่ด้านบน ก็จะไปหาเรือร่วมกับปทุมธานีและนนทบุรี เพื่อหาทางระบายน้ำออกทางคลองบ้านใหม่ ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการการก่อสร้าง
วันนี้ มีอีกหนึ่งหน่วยงานคือกรมทางหลวง ที่ได้มาประชุมด้วย ซึ่งกรมทางหลวงเองก็มีโครงการสำคัญ ซึ่งกทม.ไม่ได้สร้างมาก่อนคือการทำอุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ใต้ถนนจากคลองเปรมฯ ไปจนถึงริมแม่น้ำของจ.นนทบุรี ก็จะช่วยการระบายได้แต่ว่าในระหว่างทางก็คงต้องดูแลให้ดี จึงได้ข้อสรุปกับทางผู้ว่าฯ นนท์ว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกันใน 3 จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพฯ เพื่อหารืออย่างใกล้ชิดเรื่องการระบายน้ำเพราะน้ำส่งต่อเป็นทอดๆ แล้วก็ต้องมีการประสานงานเพื่อให้น้ำไร้รอยต่อ และสามารถเชื่อมได้
“ ต้องเรียนว่าทั้ง 3 ท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยอยู่จังหวัดนนทบุรีมาก่อน ท่านนายกทั้ง 2 ท่านก็อยู่นนทบุรีมา 30 ปี พูดเรื่องน้ำเหมือนดูฝ่ามือตัวเอง รู้ละเอียด เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันก็จะเป็นประโยชน์ ทั้ง กทม.นนทบุรี และประชาชนทั้งหมด ซึ่งในคณะทำงานก็จะเชิญทั้งกรมทางหลวงและทางหลวงชนบท มาร่วมด้วยเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างดี ในอนาคตข้างหน้าคงไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ จะมีทั้งเรื่องสาธารณสุข การศึกษา ถ้าสามารถทำให้เข้มแข็งร่วมกันได้ก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจะมีการหารือในมิติอื่นที่ต่อเนื่องจากนี้ด้วย “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ด้านผู้ว่าฯ นนทบุรี กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีของจังหวัดนนทบุรีที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ให้เกียรติมาหารือปัญหาร่วมกันเพราะอย่างที่ท่านผู้ว่าฯ พูดว่าทั้งน้ำและรถไหลไปมาหากัน ไม่รู้ว่าตรงไหนเขตใคร จากที่เราคุยกันวันนี้ ก็ได้ทราบปัญหาเช่นรถติด หรืออย่างเช่นน้ำเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เรามีปัญหาทั้งสองฝั่ง ทั้งนนทบุรี และกรุงเทพฯ ก็ได้มาคุยกันว่าเกิดจากปัญหาอะไรบ้าง มีแนวทางดำเนินการอย่างไร ซึ่งก็ได้ข้อเสนอร่วมกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญก็คือเราจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ในเรื่องของน้ำเพราะว่ายังต้องมีจังหวัดปทุมธานีเข้ามาเกี่ยวข้อง จะได้ให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบได้นำไปทำโครงการแก้ปัญหา เพื่อที่จะรับน้ำต่อกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งก็ถือว่าเป็นบรรยากาศการทำงานระหว่างจังหวัดที่ดี ซึ่งผมเคยอยู่ตอนเป็นรองผู้ว่าจังหวัดนนทบุรีก็ยังไม่เคยมีบรรยากาศทำงานอย่างนี้ ผมเชื่อว่าต่อไปมันต้องดีกว่าสภาพปัจจุบันที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเราสามารถทำงานร่วมกันแบบนี้ได้ก็จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนในเรื่องน้ำเหนือ ผู้ว่าฯ นนท์ กล่าวว่า หากคณะกรรมการปล่อยน้ำลงมาไม่เกินปริมาณ 3,100 ลบ.ม./วินาที ทางนนทบุรี สามารถรับได้ และรอด กทม. ก็รอด กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ถ้าจะหนักใจก็คงจะหนักใจเรื่องของน้ำเหนือ แต่ก็เราก็ทำเต็มที่ แต่ในส่วนของกทม.อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งคือน้ำจากป่าสักชลสิทธิ์เพราะจะแบ่งออกเป็น 2 ทางเขื่อนพระราม 6 ออกเจ้าพระยาหรือลงทางฝั่งตะวันออกหากปล่อยมาทางนี้เยอะก็โดนนนทบุรี แต่ถ้าปล่อยมาทางนี้น้อยก็จะโดนทางฝั่งตะวันออกของเรา ซึ่งกทม.ก็ต้องรับ 2 ด้าน ก็ได้สั่งการให้ เตรียม big bag ไปฝั่งตะวันออกเพิ่มในจุดที่อ่อนแอ ซึ่งสั่งบรรจุไปแล้วจำนวน 1,000 ลูก ก็จะนำไปเสริมฝั่งตะวันออก ทั้งเตรียมเสริมในแนวเฝ้าระวังตั้งแต่คลองหกวาสายล่าง ต่อไปเป็นประตูคลองหม้อแตก พระยาสุเรนทร์ คลองสามวา ไปจนถึงคลองสิบสอง และจบคลองสิบสาม ของกรมชลประทาน โดยเอา big bag ไปบล็อคทางน้ำที่จะไหลหลากลงมา โดยเป็นการเตรียมเผื่อไว้ก่อนตอนนี้น้ำยังไม่ไหลหลากซึ่งมีการบรรจุที่บึงหนองบอน